หลังจากที่ทีมงาน BoxzaRacing เคยได้รีวิวการทดลองขับ Nissan Leaf 2019 มาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งในครั้งนั้นเป็นการทดลองขับขี่ในรูปแบบใช้งานในเมืองทั่วไป โดยเป็นการชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้ง และวิ่งขับขี่ใช้งานในเมืองในสภาพการจราจรที่เป็นจริงหลากหลายรูปแบบ หนึ่งวันเต็ม ซึ่งผลที่ออกมานั้น เจ้า Nissan Leaf 2019 นั้นก็สามารถตอบโจทย์การใช้งานไนเมืองได้เป็นอย่างดี
จนล่าสุดทาง นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ได้จัดการทดสอบในตัว Nissan Leaf ใหม่ ขึ้นมาอีกครั้ง โดยในครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่า Nissan Leaf ใหม่ตัวนี้ จะสามารถเดินทางไปกลับขี้น-ลง ดอยอินทนนท์ ภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย ด้วยการชาร์จไฟฟ้าเพียงครั้งเดียวได้หรือไม่
ก่อนที่จะเริ่มต้นการทดลองขับ Nissan Leaf 2019 เรามาทำความรู้จักรายละเอียด Nissan Leaf 2019 รถพลังงานไฟฟ้าท นำเข้าทั้งคันจากประเทศญี่ปุ่น กันอีกสักรอบน่ะครับ เริ่มจากภาพลักษณ์ภายนอก แสดงให้เห็นถึงการออกแบบด้วยแนว Cool Tech Attitude ที่แสดงถึงความเรียบง่าย สะอาดตา แต่แฝงไปด้วยความดุดัน รวมไปถึงความโฉบเฉี่ยวของการเล่นแสงเงา เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสถึงยานยนต์ที่เปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ยังใช้เส้นสายหลักเป็นแนวนอน ตลอดจนถึงตัวถังด้านล่าง ที่ต้องการเน้นให้เห็นถึงจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำของตัวรถ สื่อให้เห็นถึงการขับขี่ที่สนุกสนาน และคล่องตัว และด้วยเอกลักษณ์เฉพาะบริเวณด้านหน้ากับกระจังหน้าแบบ V-Motion พร้อมตาข่ายสีน้ำเงินแบบสามมิติ, ไฟหน้าโปรเจ็คเตอร์แบบคู่ ทรงบูมเมอแรง ทำงานได้ทั้งไฟต่ำและไฟสูง ผสานอย่างลงตัวกับกระจกบังลมด้านหน้าที่ทอดยาวไปจนถึงหลังคา ทำให้การไหลผ่านของอากาศดีขึ้น
รวมถึง Nissan Leaf ยังได้ออกแบบตัวถังตามหลักแอร์โรไดนามิกส์ในทุกสัดส่วน ไม่ว่าจะเป็นบริเวณใต้ท้องรถ แนวกันชนท้ายที่มีลักษณะคล้าย Diffuser ช่วยลดแรงต้านอากาศรวมถึงการไหลของอากาศใต้รถ ส่งผลให้รถมีความมั่นคงยิ่งขึ้นเช่นเดียวกับล้อที่ออกแบบมาได้ขัดใจใครหลายคน แต่สิ่งนี้ก็เป็นไปตามหลักอากาศพลศาสตร์ทั้งสิ้น และผลที่ได้ทำให้ Nissan Leaf มีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านทานของอากาศ (Drag Coefficient) เพียง 0.28
ภายในถูกออกแบบให้เรียบง่าย แต่ทันสมัย มีความกว้างขวางพอสมควร เป็นการยึดหลักตามแนวคิด Gliding Wing อันเป็นแนวทางหลักของ Nissan อีกเช่นกัน ส่วนหน้าจอและรูปแบบของไฟแสดงข้อมูลดูเรียบง่าย และมองเห็นชัดเจนกว่ารุ่นก่อน หน้าจอสีแบบ TFT (Thin-Film Transistor) ขนาด 7 นิ้ว แสดงข้อมูลชัดเจน เป็นการผสมผสานระหว่างมาตรวัดความเร็วแบบอนาล็อก กับหน้าจอแสดงผลแบบ Multi-Information สามารถเลือกข้อมูลขึ้นมาแสดงได้ตามที่ต้องในแบบ Flush-Surface ซึ่งโชว์อยู่ตรงกลางหน้าจอ รวมทั้งแสดงการทำงานของเทคโนโลยี Safety Shield, ระดับการชาร์จไฟของรถ, ปริมาณกำลังไฟฟ้าที่ใช้ตามการกำหนดค่ามาตรฐาน, พลังงานที่เหลืออยู่
ขุมพลังของ Nissan Leaf มีระบบ e-Powertrain ให้กำลังสูงขับ 40 kWh ให้กำลังสูงสุด 110 kW หรือ 147 แรงม้า ตั้งแต่ 3,283-9,795 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 320 นิวตัน-เมตร ตั้งแต่ 0-3,283 รอบ/นาที จากมอเตอร์ไฟฟ้ารุ่น EM 57 เรียกว่ากดคันเร่งเป็นพุ่งไม่ต้องรอรอบให้เสียเวลา ส่วนอัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ภายในเวลาเพียง 7.9 วินาที และเมื่อชาร์จแบตเตอรี่เต็ม 100% สามารถขับได้ระยะทางสูงสุดถึง 311 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน NEDC
นอกจากนี้ Nissan Leaf ยังมากับระบบความปลอดภัยที่จัดมาให้อย่างเต็มพิกัด ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีเตือนการชนด้านหน้า FCW , เทคโนโลยีช่วยเบรกฉุกเฉิน FWB, กล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง IAVM พร้อมเทคโนโลยีเตือนวัตถุเคลื่อนไหวรอบคัน MOD, เทคโนโลยีช่วยควบคุมเสถียรภาพขณะเข้าโค้ง ATC และเทคโนโลยีช่วยเตือนเมื่อเหนื่อยล้าขณะขับขี่ DAA
หลังจากได้รู่จักกับ Nissan Leaf ใหม่ไปบ้างแล้ว ส่วนการทดลองขับในครั้งนี้ จะใช้เส้นทางจากที โรงแรม Veranda High Resort จ.เชียงใหม่ ขับขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 2,565 เมตร แล้วขับกลับลงมายัง โรงแรม Veranda High Resort อีกครั้งในเส้นทางเดิม ระยะทางกว่า 208 กม. และโจทย์ที่สำคัญของการทดสอบในครั้งนี้คือการขับไป-กลับ โดยทำการชาร์จไฟครั้งเดียวเท่านั้น ไม่มีการชาร์จไฟในขากลับ ซึ่งถือว่าเป็นการท้าทายเป็นอย่างมาก แต่ทาง Nissan เคลมไว้แล้วว่าเจ้า Nissan Leaf สามารถขับขี่ได้ระยะทางมากถึง 311 กิโลเมตร ซึ่งนั้นเป็นการทดสอบออกมาจากโรงงาน ซึ่งถ้าจะมาเปรียบเทียบกับการใช้งานจริงคงเป็นอะไรที่น่าลุ้น และท้าทายเป็นอย่างมาก
เพราะการใช้งานจริงบนท้องถนน รวมถึงสภาพถนน ที่ทั้งทางลาดชัน สลับโค้งไปมานั้น ลำพังถ้าเป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนคงต้องเร่งพลังดันรอบกว่าจะขึ้นไต่ขึ้นเนิน เขาสูงย่อมเสียพลัง และน้ำมันไปอยู่มิใช่น้อย เช่นเดียวกันกับเจ้า Nissan Leaf ก็ต้องเสียพลังงานไฟฟ้าไปกับการหมุนมอเตอร์เพื่อขับเคลื่อนตัวรถเหมือนกัน คราวนี้คงต้องวางแผนในการขับขี่ และผนวนกับการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่บนตัว Nissan Leaf ถึงจะไปได้อย่างตลอดรอดฝั่งของการทดลองขับในครั้งนี้
โดยก่อนออกเดินทางนั้นได้แบตเตอรี่ของ Nissan Leaf ไว้เต็ม 100% โดยในการชาร์จแบตเตอรี่ของ Nissan Leaf สามารถชาร์จไฟได้ถึง 3 รูปแบบ แยกเป็นการชาร์จจากไฟบ้านปกติหรือเรียกว่า Standard Outlet Charging เป็นการชาร์จโดยใช้ EVSE Cable หรือเคเบิลอเนกประสงค์ที่มีมาให้พร้อมกับรถ ซึ่งการชาร์จรูปแบบนี้จะเป็นแบบข้ามคืน เพราะต้องใช้เวลาประมาณ 12-15 ชั่วโมง อีกหนึ่งรูปแบบเป็นการชาร์จจากเครื่องชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) หรือ Wall Box Charging ที่ติดตั้งภายในบ้าน หรือในสถานที่ที่ติดตั้งอุปกรณ์นี้ ซึ่งสามารถชาร์จไฟฟ้าให้เต็มได้ภายในเวลา 6-8 ชั่วโมง ซึ่งในการชาร์จครั้งนี้เป็นการชาร์จแบบ EVSE Cable ซึ่งการชาร์จรูปแบบนี้จะเป็นแบบข้ามคืน
โดยออกสตาร์ทจากที่พัก มุ่งหน้าสู่ดอยอินทนนท์ โดยขับขี่เริ่มต้นด้วยที่โหมด ECO เพื่อเป็นการเซฟพลังงานไปในตัว โดยถนนหนทางช่วงนี้จะเป็นทางในเมืองซึ่งก็มีรถอยู๋บนถนนอยู่บ้าง ซึ่งในการขับขี่ในโหมด Eco นั้นทำให้ตัวรถมีอาการหน่วงบ้างเล็กน้อย แต่พอสลับมาใช้ใน Normal ซึ่งการขับในโหมดนี้จะเห็นได้ว่าสามารถปล่อยปลอดพลังออกมา ได้อย่างรวดเร็วทันใจ เรียกได้ว่ากดเมื่อไหร่เป็นมาตามเท้าเมื่อนั้น อัตราเร่งรวดเร็ว ไม่ต้องลุ้นรอรอบอะไรทันสิ้น การเร่งแซงรถที่อยู่บนท้องถนนด้วยกันเป็นไปได้อย่างต้องการ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการใช้พลังงานที่มากขึ้นตามความเร็ว พละังานไฟฟ้าในแบตเตอรี่ก็จะลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
ซึ่งหลังจากขับมาประมาณระยะทาง 50 กม. เศษๆ ก่อนที่จะเลี้ยวขึ้นไปยังปากทางขึ้นดอยอินทนนท์ แบตเตอรี่ที่หน้าปัดโชว์เหลือพลังงาน 77% ซึ่งถึงตอนนี้ก็ต้องมาคำนวณถึงการขับขี่อีกครั้งว่าจะขับขึ้นดอยยังไงในระยะทางกว่า 50 กม. เศษๆ กว่าจะถึงปลายทางยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย และที่สำคัญต้องเหลือพลังงานไฟฟ้าในการที่จะขับกลับจุดหมายปลายทางสุดท้าย ซึ่งยังเหลือระยะทางกว่า 100 กม. จากยอดดอยไปยังจุดหมายปลายทาง
ซึ่งในตอนขึ้นดอยอินทนนท์นี้ ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ในโหมด Eco อีกครั้ง เพื่อเป็นการเซฟพลังงานไฟฟ้า โดยในการขับขึ้นดอยนั้นจะต้องผ่านทางลาดชัน และคดเคี้ยว เฉพาะฉะนั้นพลังงานไฟฟ้าที่อยู่ในแบตเตอรี่จึงถูกดึงออกมาใช้งานเป็นจำนวนมากในการที่จะปั่นมอเตอร์ที่ล้อเเพื่อให้รถพุ่งทยานไปข้างหน้า ซึ่งนั้นก็ทำให้ตัวเลขบนหน้าปัดที่บอกพลังงานลดลงอย่างรวดเร็ว ตามจังหวะที่รถไต่ระดับความสูง แต่ฟิลลิ่งที่ได้จากการขับขี่ Nissan Leaf ขึ้นบนดอยอินทนนท์ในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าตัวรถสามารถปีนป่ายไปตามทางลาดชันได้อย่างง่ายดาย เพราะด้วยตัวรถเป็นรถพลังงานไฟฟ้าที่ต้องรอรอบ อีกทั้งแรงบิดที่มีมาให้มากถึง 320 นิวตัน-เมตร นั้นมากมาย เรียกว่ากดคันเร่งเพียงเบาๆ ตัวรถพุ่งทยานไปอย่างสบาย ไม่ต้องเค้นพลังอะไรให้มากมาย อีกทั้งในเรื่องช่วงล่างยิ่งต้องบอกว่าเป็นอะไรที่เนียนมากๆ ตัวรถเกาะถนนได้อย่างดีเยี่ยม ไม่มีการโคลงให้เห็นในตอนเข้าโค้ง ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับ ช่วงล่างของ Nissan Leaf ที่ด้านหน้าใช้แบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัทพร้อมคอยล์สปริง และด้านหลังเป็นแบบทร์ชันบีมพร้อมคอยล์สปริง, พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าน้ำหนักกำลังดี ไม่เบา และไม่หนักจนเกินไป
ซึ่งขับขึ้นมาเรื่อยๆแบบเพลินๆ แป๊ปเดียวก็ขึ้นมาถึงยอดดอยบนลาดจอดรถที่เรียกว่าสูงที่สุดของสยามประเทศ ได้อย่างรวดเร็ว แต่เหลือบไปมองพลังงานที่อยู่บนหน้าปัดแจ้งเตือนบอกว่าเหลือพลังงานอยู่เพียง 21 % ซึ่งจะเท่ากับจะวิ่งได้อีก 39 กม. เท่านั้น ซึ่งถ้ามองแล้วพลังงานเพียงเท่านี้ไม่สามารถขับกลับไปถึง โรงแรม Veranda High Resort ที่เราสตาร์ทออกมาเมื่อเช้าเป็นแน่
ซึ่งขากลับนี่แหล่ะที่จะเป็นบทพิสูจน์ของ Nissan Leaf และบททดสอบในการขับขี่ในครั้งนี้ โดยในช่วงขากลับนี้ยังคงใช้เส้นทางเดิมที่มา แต่ในช่วงขับลงจากดอยอินทนนท์ ได้ปรับเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์จาก D ให้เปลี่ยนมาตำแหน่งเกียร์ B (ซึ่งการทำงานจะคล้ายกับ Engine Brake) พร้อมกับปรับโหมดมาเป็นโหมด Eco และเปิดระบบ e-Pedal ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้ จะช่วยในการที่จะหน่วงตัวรถให้เพิ่มขึ้นขณะขับลงเนิน เพราะช่วงที่ไหลลงเขามานั้น ในตัวมอเตอร์ที่อยู่ใน Nissan Leaf จะคอยดึงไม่ให้ตัวรถลงมาด้วยเร็วที่มากเกินไป อีกทั้งตัวมิเตอร์จะคอยอัดประจุไฟฟ้าเข้าไปเก็บไว้ที่แบตเตอรี่ เสมือนกับการชาร์จไฟฟ้ากลับเข้าไปในตัว เพื่อเพิ่มพลังในงานให้มากยิ่งขึ้นในการขับขี่
ในช่วงขับลงทางลาดชัน ซึ่งพอขับลงไปถึงด่านของกรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นสุดท้ายก็ลงสู่ทางราบด้านล่างผลปรากฏว่าพลังงานไฟฟ้าได้ถูกชาร์จกลับเข้ามาที่แบตเตอรี่ถึง 36% ซึ่งได้มาจากการ Regenerative ของตัวรถ ซึ่งถ้าจากการคำนวณ และขับขี่ในรูปแบบปกติ คาดว่าคงจะถึงจุดหมายปลายทางอย่างแน่นนอน โดยใช้ความเร็วในช่วง 60-80 กม.ชม. และก็มีการเร่งแซงบ้างเป็นระยะ
และในที่สุดก็เดินทางมาถึงจุดหมายปลายทาง สรุปรวมระยะทางไป-กลับ โรงแรม Veranda High Resort ถึงยอดดอยอินทนนท์ กว่า 208 กม. โดยพลังงานไฟฟ้าในแบเตอรี่ยังคงเหลือถึง 10% ที่จะสามารถวิ่งได้อีกถึงกว่า 29 กม. เลยที่เดียว ซึ่งในการทดลองครั้งนี้ ถือว่าการชาร์จไฟเพียงครั้งเดียวของ Nissan Leaf 2019 นี้ สามารถพิชิตยอดดอยอินทนนท์ ได้สำเร็จ
สรุปในการทดสอบครั้งนี้ ต้องบอกว่า Nissan Leaf สามารถพิชิตดอยอินทนนท์ได้อย่างสบายๆ เพราะด้วยแรงบิดที่มหาศาลถึง 320 นิวตัน-เมตร จึงทำให้มีอัตราเร่งที่ดี และฉับไว อีกทั้งยังขับขี่ได้อย่างนุ่มนวล แม้ว่าจะอยู่บนเส้นทางที่คดเคี้ยว และสูงชัน รวมถึงพลังงานไฟฟ้าก็ยังเหลือ อีกทั้งยังเป็นบทพิสูจน์ในเรื่องการชาร์จไฟฟ้ากลับหรือ Regenerative Braking System ที่จะชาร์จไฟเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่ในช่วงขับขี่ นั้นสามารถทำได้อย่างดี และมีประสิทธิภาพที่ดีเยี่ยม
แต่ถ้าจะให้สรุปแบบชัดเจนคงต้องบอกว่า Nissan Leaf รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% เหมาะกับการใช้ในเมืองเสียมากกว่าเพราะเวลาขับขี่ในเมืองเมื่อพลังงานไฟฟ้าใกล้จะหมด เราสามารถแวะชาร์จตามจุดต่างๆ ที่ในปัจจุบันนี้นถูกสร้างไว้มากมายหลายจุดด้วยกัน แต่ถ้าบอกว่าจะไปต่างจังหวัดได้มั้ย ก็ต้องบอกว่าได้ แต่ก็ต้องมีการวางแผนในการเดินทางทุกจุดทุกด้าน เพราะในทุกเส้นทางคงไม่มีทางลาดชันที่จะให้ล้อหมุนชาร์จไฟกลับเข้ามาตลอดเส้นทางการขับขี่ และจุดชาร์จตามต่างจังหวัดก็ยังไม่ได้แพร่หลายเท่ากับในเมือง หรือในตัวกรุงเทพมหานคร
Nissan Leaf 2019 รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100 % เป็นรถที่การนำเข้ามาทั้งคันจากญี่ปุ่น จึงมีราคาค่าตัวถึง 1.99 ล้านบาท ซึ่งถ้าบอกว่าแพงไปมั้ยก็ต้องบอกว่าแรงไปนิด ถ้าเคาะลงมาได้อยู่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท รับรองขายได้บันเทิงใจอย่างแน่นอน แต่ในราคาขนาด 1.99 ล้านบาท สำหรับคนที่อยากปรับเปลี่ยนอรรถรสในการขับขี่ที่เร้าใจแบบรักษ์สิ่งแวดล้อม และพร้อมที่เอื้อมถึงในราคาแบบนี้ เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้มา และคิดคำนวณสิ่งต่างๆในระยะยาวแล้ว ก็คุ้มค่าอยู่น่ะครับ สำหรับรถแรง แต่รักษ์โลกที่ไม่ปล่อยมลพิษอย่าง Nissan Leaf 2019 คันนี้
Nissan Leaf ราคา 1,990,000 บาท