Mitsubishi Triton 2015 VS Mazda BT-50 Pro 2015 รถกระที่ไม่ได้มีดีที่หน้าตา
รถกระบะเป็นรถประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะภูมิภาคไหนก็ตาม จึงกลายเป็นตลาดรถที่มีการแข่งขันที่สูงมาก วันที่ทาง BoxzaRacing.com จึงได้นำรถกระบะที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยมาประชันกันนะครับ ว่าใครจะแรง ใครจะเท่ ระหว่าง Mitsubishi Triton 2015 ที่ได้เปิดตัวเมื่อปีที่แล้วและได้รับความนิยมอย่างล้นหลานกับ Mazda BT-50 Pro 2015 ที่ได้ปรับโฉมความสวยงามพร้อมเสริมเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกพร้อมสู้ศึกตลาดรถกระบะ
สำหรับการเปรียบเทียบที่สมน้ำสมเนื้อ จะขอนำรุ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุด นั่นก็คือ รุ่น 4 ประตู ขับเคลื่อน 2 ล้อ ยกสูง ได้แก่ Mitsubishi Triton PLUS GLS NAVI (A/T) และ Mazda BT-50 DBL 2.2 Hi-Racer AT มาประชันกันว่าใครจะมีดี มีเด่นอะไร
การออกแบบภายนอก
ด้านการดีไซน์ภายนอกของรถกระบะสมัยนี้เน้นไปที่ความบึกบึน ดุดัน และให้ความสปอร์ตมากขึ้น เริ่มจาก Mitsubishi Triton 2015 ที่ได้มีการยกระดับความดุดันและความสง่างามมากกว่าเดิม ด้วยกระจังหน้าโครเมียม พร้อมกับช่องดักอากาศ 6 ช่องที่ดีไซน์เสมือนฟันของอสุรกาย พร้อมไฟหน้าที่ออกแบบให้เข้ากับกระจังหน้าที่ประกอบไปด้วย ไฟโปรเจคเตอร์ HID, ไฟ LED Daylight และไฟเลี้ยวที่ออกแบบเหมือนดวงตา แม้กันชนจะออกแบบให้ดูดุดันมาก แต่ไฟตัดหมอกดวงกลมที่ช่วยลดความดุดันลงไปหน่อย และไฟท้ายดีไซน์ใหม่ สปอร์ตยิ่งขึ้น ทั้งนี้อ็อพชั่นอื่นๆ สำหรับรุ่นนี้ อาทิ กล้องมองหลัง, บันไดข้างตรงประตู, กันชนท้ายดีไซน์สวยงามและแปลกตา ไฟเลี้ยวบนกระจกมองข้าง และล้ออัลลอย 17 นิ้ว
ส่วน Mazda BT-50 Pro รุ่นใหม่ก็ได้มีหน้าตาที่ยังคงเน้นให้ฉีกกฏ มีความหรูหราประดุจซีดาน ไม่ว่าจะเป็นกระจังหน้าดีไซน์ใหม่พร้อมแถบโครเมียมตัว V ที่ถอดแบบจากงานออกแบบ Kodo Design ไฟหน้าทรงใบไม้ที่ด้านในประกอบด้วยโคมมัลติรีแฟล็กเตอร์, ไฟเลี้ยว, ไฟส่องกลางวัน ด้านไฟตัดหมอกดวงกลมที่อยู่ในกรอบแบบสปอร์ต ไฟท้ายไร้ของโครเมียม, บันไดข้างดีไซน์ใหม่ และล้ออัลลอย 17 นิ้ว แต่ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่กล้องมองหลังที่ซ่อนเนียนๆ ที่โลโก้มาสด้าที่ช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับตัวรถด้วย และที่แน่นอน สิ่งที่กินขาดที่สุด คือ มิติขนาดตัวถังที่ใหญ่และตัวถังที่ยกสูงมากกว่าใคร จึงได้เปรียบในด้านความกว้างขวางและลุยได้ดี
การออกแบบภายใน
การออกแบบภายในห้องโดยสารของทั้งคู่ ก็ยังคงเน้นไปที่ความเคร่งขรึมและอัดแน่นด้วยออพชั่นเหมือนเดิม และความสะดวกสบายเหมือนรถยนต์นั่ง ซึ่ง Mitsubishi Triton 2015 ได้เพิ่มคุณภาพของวัสดุ ความหรูหราสไตล์มิตซูฯ โดยเฉพาะระบบอินโฟเทนเมนต์แบบสัมผัสขนาด 7 นิ้ว มาพร้อมกับการแสดงข้อมูล, ระบบนำทาง, ระบบมัลติมีเดียต่างๆ, ระบบปรับอากาศซ้ายขวา และที่สำคัญคือการใช้วัสดุลดเสียงรบกวนที่มีคุณภาพและติดตั้งมาอย่างเหมาะสมจนทำให้ห้องภายในมีความเงียบไร้เสียงรบกวนจากภายนอกได้ดีทีเดียว
ด้าน Mazda BT-50 Pro ก็ยังคงมีห้องโดยสารที่กว้างขวาง นั่งสบายและให้ความรู้สึกที่ปลอดโปร่ง แต่รายละเอียดห้องโดยสารยังคงเป็นเหมือนเดิมทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เช่นระบบวิทยุ /CD /MP3 พร้อมไมโครโฟนสำหรับการสนทนาผ่านระบบลูทูธและช่วยปรับเสียงให้กับระบบเครื่องเสียง แต่ที่เพิ่มมาอย่างหนึ่งก็คือกระจกมองหลังแบบตัดแสงที่จะซ่อนจอภาพจากกล้องมองหลังพร้อมเส้นกะระยะให้ด้วย
ด้านเครื่องยนต์
มิตซูบิชิ ไทรทัน มาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซล อลูมินัม บล็อก 2.4 ลิตร MIVEC คอมมอนเรล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว เทอร์โบแปรผันอินเตอร์คูลเลอร์ 181 แรงม้า ที่ 3,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 430 นิวตัน-เมตร ที่ 2,500 รอบ/นาที ทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด
ส่วน มาสด้า บีที-50 โปร จะมาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซล Di-THUNDER PRO 2.2 คอมมอนเรล ไดเรคอินเจคชั่น 4 สูบ 16 วาล์ว เสริมด้วยเทอร์โบแบบ Fixed-Geometry Turbocharger อินเตอร์คูลเลอร์ขนาดใหญ่ ให้กำลัง 150 แรงม้า ที่ 3,700 รอบ/นาที แรงบิด 375 นิวตัน-เมตร 1,500-2,500 รอบ/นาที ทำงานร่วมกับระบบเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด
ด้านความปลอดภัย
ระบบความปลอดภัยของทั้งคู่คงไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะทั้งคู่เน้นในเรื่องความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน และมีระดับ แต่ทาง Mazda จะติดตั้งระบบความปลอดภัยที่มีลูกเล่นมาให้มากกว่า อาทิ ระบบ Brake Override System (BOS) ที่เป็นระบบอัตโนมัติที่จะตัดการทำงานของคันเร่ง ในกรณีที่แป้นเบรคและคันเร่งถูกเหยียบในเวาลาเดียวกัน, ระบบ Emergency Stop Signal (ESS) หรือระบบสัญญาณไฟฉุกเฉิน จะกะพริบเมื่อเกิดการเบรคฉุกเฉิน เมื่อมีการเบรคในสถานะการณ์ฉุกเฉินเมื่อใช้ความเร็วสูงสัญญาณไฟฉุกเฉินจะปรากฏขึ้น, ระบบ Load Adaptive Control (LAC) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัวเมื่อบรรทุก เมื่อมีการบรรทุกสัมภาระระบบจะทำการจับตำแหน่ง และน้ำหนักของสัมภาระที่บรรทุกแล้วควบคุมการทำงานของระบบเบรค ABS 4 ล้อ (4W-ABS), Traction Control System (TCS) หรือระบบป้องกันการลื่นไถล และ Dynamic Stability Control, (DSC) หรือระบบควบคุมเสถียรภาพ และการทรงตัวของรถ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเบรค การป้องกันการลื่นไถล เสถียรภาพ และการทรงตัวของรถ รวมถึงการป้องกันรถพลิกคว่ำ ต่อด้วยระบบช่วยการทรงตัวลากจูง (TSM) ซึ่งเมื่อส่วนของตัวพ่วงเริ่มที่จะส่ายออกด้านข้าง ระบบจะทำการปรับความเร็วของล้อทั้งด้านซ้าย และด้านขวาเพื่อรักษาตำแหน่งของรถลากให้เหมาะสม และระบบ Roll-Over Mitigation (ROM) ที่คอยป้องกันการพลิกคว่ำ ระบบทำงานเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของรถ และควบคุมแรงเบรคในแต่ละล้อเพื่อป้องกันรถพลิกคว่ำ นอกจากนี้ยังมีระบบ Hill Launch Assist (HLA) ที่จะช่วยออกตัวบนทางลาดชัน เมื่อรถต้องออกตัวจากการหยุดนิ่งบนทางที่ลาดชัน เมื่อผู้ขับขี่ถอนเท้าจากแป้นเบรคเพื่อไปเหยียบคันเร่งระบบจะทำการหยุดรถเป็นเวลา 2 วินาที เพื่อให้ผู้ขับขี่มิต้องกังวลต่อรถที่จะไถลเนื่องจากถนนที่ลาดชัน และระบบ Hill Descent Control (4WD only) ที่คอยควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน ระบบจะสั่งให้เพิ่มแรงดันเบรคเพื่อรักษาความเร็วที่ใช้อยู่ให้คงที่
ส่วน Triton จะมาพร้อมโครงสร้างนิรภัย RISE BODY ที่ใช้เหล็กกล้าแรงดึงสูง High Tensile Steel ที่หนาถึง 2 ชั้น พร้อมคานเหล็กกันกระแทกด้านหน้าและด้านข้าง ให้ความแข็งแรงสูง แต่กลับมีน้ำหนักที่เบาลง และระบบความปลอดภัยที่จัดมาเช่นเดียวกัน อาทิ ระบ BA, ABS และ EBD, ระบบ ASTC ที่ประกอบไปด้วยระบบระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว Active Stability Control (ASC) และระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและป้องกันการลื่นไถล Active Traction Control(ATC) เมื่อทั้งสองรวมกันจึงเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนทั้ง 4 ล้อ, แกนพวงมาลัยยุบตัวได้ เป็นต้น
ราคา
Mitsubishi Triton PLUS GLS NAVI (A/T) ราคาอยู่ที่ 925,000 บาท
Mazda BT-50 DBL 2.2 Hi-Racer AT ราคาอยู่ที่ 886,000 บาท
สรุป
จากการข้อมูลที่ได้นำเสนอไปแล้วในเบื้องต้นของรถทั้ง 2 รุ่น สามารถอธิบายออกมาให้ท่านผู้ที่สนใจในรถ 2 รุ่นนี้ ได้เข้าใจกันแบบง่ายๆ ว่า รูปลักษณ์ภายนอกของรถทั้งคู่มีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่นเดียวกับภายในที่ได้รับการออกแบบมาอย่างสอดคล้อง แต่ทาง Mitsubishi Triton จะได้เปรียบมากกว่าที่จอแสดงภาพแบบ Touch Screen ที่มาพร้อมระบบนำทาง ส่วน Mazda BT-50 Pro ยังคงความกว้างขวาง หรูหราประดุจซีดานของห้องโดยสาร และมาพร้อมกับจอแสดงผลกล้องมองหลังบริเวณกระจกมองหลังที่สร้างความเก๋ไม่น้อย เครื่องยนต์แม้ว่าตัวเลขจะต่างกันอยู่เล้กน้อย แต่สำหรับการใช้งานจริง โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าเพียงพอต่อทุกการใช้งาน การใช้เครื่องยนต์ที่มีขนาดใหญ่กว่า เทคโนโลยีดีกว่า ย่อมช่วยให้ตัวรถเปี่ยมด้วยพละกำลังการขับเคลื่อน ซึ่งทางค่าย Mazda ก็แก้เกมด้วยการใช้เกียร์ 6 สปีด มาเป็นตัวช่วยเรียกอัตราเร่งที่มีความต่อเนื่องในทุกช่วงความเร็ว โดยรวมแล้วไม่หนีกันอย่างมีนัยสำคัญจริงๆ
ในโอกาสหน้า BoxzaRacing จะนำรถอะไรมาเปรียบเทียบคู่ต่อไป ก็อย่าลืมติดตามชมกันให้ดีนะครับ