Ford Everest ขีดสุดแห่งความเหนือชั้นที่ยากจะหาผู้ใดมาต่อกร
Ford Everest (ฟอร์ด เอเวอร์เรส) เปิดตัวไปในมอเตอร์โชว์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งทันทีที่เผยโฉมก็ทำเอาแฟนๆ ตื่นเต้นกันยกใหญ่ ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูบึกบึน แข็งแกร่งเหนือใคร สมกับความเป็นยนตรกรรมอเนกประสงค์สไตล์มะกันพันธุ์แท้ ล่าสุดทางค่ายได้เชิญ BoxzaRacing ไปร่วมสัมผัสสมรรถนะของรถอเนกประสงค์อย่าง Ford Everest บนเส้นทางสุดท้าทาย ณ หุบเขาแห่งลำน้ำกก จังหวัดเชียงราย เราไปชมกันดีกว่าว่า Everest ที่เราเฝ้ารอคอย จะให้สมรรถนะที่โดดเด่น เหมือนอย่างที่เราตั้งความหวังไว้สูงลิบหรือไม่
สำหรับ Ford Everest ที่มีจำหน่ายในบ้านเรา ณ ปัจจุบันนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 รุ่นก็คือ Titanium Plus เครื่องยนต์ดีเซล DuraTorq TDCi 5 สูบ 3.2 ลิตร 200 แรงม้า แรงบิด 470 นิวตัน-เมตร เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ขับเคลื่อนสี่ล้อ ซึ่งมาพร้อมลูกเล่นแบบจัดเต็ม ไม่ว่าจะเป็นหลังคาแก้วแบบ Panoramic Roof, ระบบช่วยจอดอัจฉริยะ รวมไปถึงระบบพับเบาะแถวที่ 3 ด้วยไฟฟ้า ซึ่งต่างกับรุ่นเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร Titanium ตรงที่รุ่น Plus จะมีลูกเล่นพิเศษที่มากกว่า ส่วนเรื่องระบบขับเคลื่อนและชุดเกียร์นั้นเหมือนกันทุกประการ ส่วนรุ่นเริมต้นที่เน้นความคุ้มค่าจะมาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซล DuraTorq TDCi ในพิกัด 2.2 ลิตร มาพร้อมเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด พร้อมระบบขับเคลื่อนสองล้อหลัง ซึ่งแน่นอนว่าทั้ง 3 รุ่น มาพร้อมดีไซน์ที่โดดเด่นในภาพรวม โดยเฉพาะรุ่นเครื่องยนต์ 3.2 ที่มาพร้อมล้ออัลลอยดีไซน์แกร่งขนาด 20 นิ้ว ไฟหน้าโปรเจ็คเตอร์พร้อม LED Day Light และไฟท้าย LED ซึ่งช่วยส่งให้ Ford Everest เป็นยนตรกรรมอเนกประสงค์ที่ล้ำสมัย และพร้อมตอบรับทุกการใช้งานอย่างแท้จริง
การทดลองขับขี่ Ford Everest จะเริ่มตั้งแต่ในย่านตัวเมือง จังหวัดเชียงราย ลัดเลาะไปตามถนนเลียบลำน้ำกก ซึ่งมีโค้งน้อยใหญ่ให้ได้พิสูจน์สมรรถนะของตัวรถกันอย่างเต็มที่ โดยในช่วงแรกนั้นทาง BoxzaRacing ได้ลองขับในรุ่น 2.2 ลิตร ขับเคลื่อน 2 ล้อ สิ่งที่รู้สึกได้ทันทีที่เข้าไปนั่งในห้องโดยสารของ Ford Everest รุ่นนี้ก็คือ แม้ว่าจะเป็นรุ่นเริ่มต้น แต่ก็ให้อุปกรณ์ต่างๆ มาอย่างครบครันและเพียงพอต่อทุกการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นช่อเสียบไฟ AC 230 โวลต์ ระบบปรับอากาศแบบแยกอิสระซ้าย-ขวาทั้งตอนหน้า และเครื่องปรับอากาศตอนหลัง อุปกรณ์ความบันเทิง Sync 2 ที่รองรับการใช้งานทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น CD, USB, Bluetooth รวมถึง AUX จะขาดไฟก็เพียงระบบนำทาง Navigator เพียงเท่านั้น (ซึ่งรุ่น 3.2 ก็ไม่มีมาให้เช่นเดียวกัน) ในส่วนของเบาะนั่ง (รุ่น 2.2 ปรับไฟฟ้าเฉพาะฝั่งคนขับ ส่วน 3.2 ปรับไฟฟ้าทั้ง 2 ฝั่ง) และแผงคอนโซลรุ่นนี้มาในสีดำ ได้รับการออกแบบมาอย่างลงตัว ผสานดีไซน์เคร่งขรึมกับประโยชน์ใช้สอยได้อย่างลงตัว ส่วนในรุ่น 3.2 จะมาพร้อมเบาะสีเบจ และเพิ่มรายละเอียดในส่วนที่เป็น Soft Touch มากยิ่งขึ้น (ในรุ่น Titanium Plus) พวงมาลัยมาในแบบมัลติฟังค์ชั่น ฝั่งซ้ายควบคุมอุปกรณ์ความบันเทิง ส่วนฝั่งขวาสำหรับปรับฟังค์ชั่นการขับขี่ เช่น หน้าจอแสดงผลแบบดิจิตัล รวมถึงระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ
ฟีลลิ่งที่ได้จากการขับขี่ในรุ่น Titanium 2.2 ก็คือ ความนิ่งในยามขับขี่ปกติ ตัวรถให้ความรู้สึกมั่งคง ราบรื่น ต่อเกียร์ได้อย่างนุ่มนวล การตอบสนองของพวงมาลัยในยามเข้าโค้งทำได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว คมกริบ ให้ความรู้สึกว่าบังคับทิศทางได้แบบทันอกทันใจ น้ำหนักของพวงมาลัยกำลังพอดี ไม่หนักหรือเบาจนเกินไป แม้ว่าจะเป็นสาวร่างเล็กก็สามารถคุมบังเหียน Ford Everest ได้อย่างไม่ยากเย็น การวิ่งด้วยความเร็วสูงตัวรถให้การทรงตัวที่ดี แม้จะต้องลัดเลาะตามโค้งน้อยใหญ่ แต่ก็ไม่รู้สึกถึงปัญหาในการควบคุมรถ แม้ว่าจะต้องเจอกับเส้นทางขรุขระในบางช่วง แต่ก็ยังรู้สึกถึงความนุ่มนวล ไม่กระด้างด้วยระบบคอยล์สปริงที่ปรับเซ็ทค่ามาเป็นอย่างดี
ส่วนด้านพละกำลังที่คนไทยส่วนใหญ่ยังกังวลว่า “เครื่องยนต์เพียง 2.2 ลิตร จะตอบสนองการใช้งานกับรถที่มีขนาดใหญ่ และน้ำหนักมากขนาดนี้ได้ดีพอหรือไม่ ?” โดยส่วนตัวแล้ว...ผมยังยืนยันว่า ด้วยแรงบิดระดับ 385 นิวตัน-เมตร และแรงม้าถึง 160 ตัว ให้กำลังที่เกินพอสำหรับทุกการใช้งานครับ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเร่งขณะออกตัว หรือเร่งแซง ถือว่าสอบผ่านแบบสบายๆ อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะขอชื่นชมก็คือ เรื่องสุนทรียภาพแห่งการเดินทาง Ford Everest ให้ความเงียบและดูดซับเสียงรบกวนจากภายนอกได้อย่างน่าดูชม (แม้ว่าจะมีเสียงจากเครื่องยนต์เข้ามาบ้าง หากขับขี่ในรอบสูงหรือกดคันเร่งหนักๆ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ) อีกทั้งยังมาพร้อมชุดเครื่องเสียงที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ ให้คุณภาพและมิติของเสียงที่โดดเด่น อีกทั้งยังรองรับการเชื่อมต่อทุกอุปกรณ์ได้แบบไม่ยาก
หลังจากที่ลองรุ่นเริ่มต้นกับมาพักใหญ่ ก็ได้เวลาสัมผัสของจริงกับรุ่นเครื่องยนต์ 3.2 ลิตร พร้อมการขับขี่ในรูปแบบ Off Road ซึ่งเส้นทางที่เลือกมาใช้ในการพิสูจน์สมรรถนะของ Ford Everest ในครั้งนี้ ต้องบอกว่า “โหดสะใจขาลุย” เนื่องจากเป็นทางดินบนเขาสูงชัน ซึ่งมีฝนโปรยปรายเล็กน้อยในขณะเดินทาง ยิ่งเป็นการเพิ่มดีกรีความโหดให้มากขึ้นอีกระดับ นับเป็นโอกาสที่ล้ำค่าในการพิสูจน์สมรรถนะที่แท้จริงของตัวรถ สำหรับ Ford Everest มาพร้อมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ แบบ on Demand แบ่งกำลังพร้อมควบคุมการจ่ายแรงบิด โดยประมวลผลและกระจายแรงไปยังล้อขับเคลื่อนอย่างเหมาะสมในแต่ละสภาพเส้นทาง นอกจากนี้ผู้ขับขี่ยังเลือกปรับ Terrain Management System (TMS) หรือโหมดการขับขี่ได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็น Normal สำหรับการขับขี่แบบปกติ, โหมดสำหรับโคลน/หญ้า, พื้นทราย และหินขรุขระ โดยแต่ละโหมดจะปรับเปลี่ยนการตั้งค่า อัตราเร่ง การกระจายกำลังสู่ล้อขับเคลื่อนทั้งสี่ และระบบควบคุมการเกาะถนน ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ขับขี่ได้มากขึ้น แม้ว่าจะเจออุปสรรคที่ยากยิ่ง แต่ Ford Everest ยังคงขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด ด้วยพละกำลังและแรงบิดมหาศาลถึง 470 นิวตัน-เมตร จนกระทั่งถึงจุดไฮไลท์ที่เป็นเนินชัน ซึ่งความลื่นและธารน้ำเป็นเสี้ยนหนามสำคัญ แต่ต้องบอกว่างานนี้ ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับ Ford Everest เพราะเพียงแค่ปรับการทำงานของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อไปที่ 4 Low พร้อมเปิดการทำงานของระบบ Diff Lock ไม่ว่าอุปสรรคจะยากขนาดไหน ก็ถูกเปลี่ยนเป็นความท้าทายที่รอการข้ามผ่าน หรือแม้ว่าจะต้องลงเนินที่ลื่นและชัน ก็ยังมีตัวช่วยอย่างระบบควบคุมความเร็วขณะลงเขา ที่เพียงแค่กดปุ่มเบาๆ รถจะค่อยๆ ไหลลงเขาด้วยความเร็วที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ หากต้องการเพิ่มหรือลดความเร็ว ก็เพียงแค่กดปุ่มเพิ่มหรือลดความเร็วที่พวงมาลัยเท่านั้น ด้วยบททดสอบแบบหฤโหดที่ได้เจอใครครั้งนี้ เชื่อได้ว่าคงไม่มีอุปสรรคใด ที่จะขัดขวางหรือหยุดยั้งสมรรถนะอันโดดเด่นของ Ford Everest ได้
หากจะบอกว่า “Ford Everest ทำหน้าที่ได้แบบไร้ที่ติ” ก็คงไม่ใช่คำพูดที่เกินจริงเลยแม้แต่น้อย ตั้งแต่เรื่องของดีไซน์ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโดดเด่นเหนือใคร รวมถึงประโยชน์ใช้สอยที่ช่วยตอบรับทุกการใช้งานได้อย่างตรงจุด หรือแม้แต่เทคโนโลยีแห่งการขับเคลื่อนที่อัดแน่นไปด้วยสมรรถนะอันเหนือชั้น หากวัดกันด้วยคุณภาพของตัวรถล้วนๆ คงยากที่จะหาคู่แข่งในคลาสที่จะโค่น Ford Everest ลงได้อย่างแน่นอน