หลังจากเปิดตัวในโลกโซเชียลอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ทางบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้จัดกิจกรรมทดลองสมรรถนะของรถกระบะรุ่นใหม่ล่าสุด Toyota Hilux REVO 2020 กับโฉม Rocco ที่ถือเป็นตัวแต่งสูงสุดของรุ่นนี้ งานนี้ทีมงาน BoxzaRacing ได้รับเกียรติเข้าร่วมการทดลองขับในครั้งนี้ เช่นเคย และแน่นอนว่า งานนี้เราก็นำเอาผลการทดลองขับมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ สำหรับคนที่กำลังหารถกระบะรุ่นใหม่ใช้
Toyota Hilux Revo 2020 กับโฉม Rocco เป็นตัวท็อปในรุ่น
โดยครั้งนี้...เราจะว่ากันที่เรื่องของผลการทดลองขับกันล้วนๆ และเป็นการทดลองขับ Toyota Hilux REVO 2020 กับโฉม Rocco เท่านั้น โดยงานนี้ถูกแบ่งการขับใน 2 รูปแบบ ทั้ง On Road และ Off Road กับการใช้พื้นที่จำลองในสนามทดสอบรถยนต์ Toyota Driving Experience Park โดยการสร้างอุปสรรคที่อาจจะได้พบเจอกันในชีวิตจริง และแม้ว่าการทดลองสมรรถนะในครั้งนี้ จะยังไม่ได้สัมผัสกับพลังการขับเคลื่อนของเครื่องยนต์ดีเซลที่ปรับมาใหม่อย่างเต็มที่ แต่ก็พอได้สัมผัสกับอัตราเร่งที่เปลี่ยนไปซึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงระบบการทำงานและชิ้นส่วนหลายจุด จนถูกเรียกว่าเป็นเครื่อง GD Super Power กับรหัส 1GD-FTV ขนาด 2.8 ลิตร รุ่นใหม่นี้ให้กำลังสูงสุดถึง 204 แรงม้า มาพร้อมกับแรงบิดสูงสุด 500 นิวตัน-เมตร แต่สิ่งที่สามารถสัมผัสได้คงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง ปรับเสริมอุปกรณ์เข้ามาใหม่หลายรายการ รวมถึงฟังก์ชั่นการทำงานที่ละเอียดมากขึ้น
On Road Test
และในช่วงการขับแบบ On Road กับ Station ที่ถูกวางไว้นั้นเริ่มจากการทดลองประสิทธิภาพในการควบคุม ที่ทาง Toyota ต้องการสื่อในเรื่องของพวงมาลัยที่ปรับปรุงใหม่ ซึ่งทาง ดร. จุฬชาติ จงอยู่สุข หัวหน้าวิศวกรระดับภูมิภาค บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด อธิบายถึงตัวพวงมาลัยที่ใช้กับรุ่นใหม่นี้ว่า ได้พัฒนาระบบช่วยผ่อนแรง VFC (Variable Flow Control) นั่นหมายความว่าพวงมาลัยจะแปลผันตามความเร็ว การทดลองเริ่มจากความเร็วต่ำ ระบบ VFC ที่ว่านี้ จะทำงานโดยการเพิ่มแรงดันไปที่ปั๊มพวงมาลัยให้สูงขึ้น แน่นอนว่าน้ำหนักของตัวพวงมาลัยจะต้องเบาตั้งแต่เริ่มหมุน ทว่าอาการที่ได้จากการทดลองในครั้งนี้กลับให้ความรู้สึกที่ตรงกันข้าม พวงมาลัยมีอาการหนืดอย่างชัดเจน พูดง่ายๆ คือหนัก โดยเฉพาะในตอนหยุดนิ่งแล้วหมุนพวงมาลัย ลักษณะเช่นนี้ อยู่ที่เรื่องของระบบประมวลผลยังทำงานได้ไม่ละเอียดพอ แม้ว่าจะมีการเพิ่งแรงดันปั๊มให้สูงขึ้นแล้วก็ตาม แต่ VFC จะเห็นผลในช่วงที่รถขยับออกตัวและมีความเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อย เมื่อหมุนพวงมาลัยแล้วทำให้เกิดความคล่องตัว และมีความแม่นยำ ตอบสนองได้รวดเร็วในระดับสูงทีเดียว หากให้สรุปเรื่องพวงมาลัยแล้ว ในการใช้งานจริงยังไม่สามารถตอบสนองได้ครบทุกย่านความเร็ว หรือไม่เป็นไปตามที่ผู้พัฒนากล่าวไว้เท่าไร
ทดลอง ระบบช่วยผ่อนแรง VFC (Variable Flow Control)
อีกส่วนหนึ่งที่ต้องพูดถึงเพราะเป็นจุดเด่นของรุ่นใหม่ นั่นคือ ระบบช่วงล่าง ที่ปรับองค์ประกอบใหม่ ในส่วนลึกๆ กับเรื่องค่าเคลียร์แรนซ์ของจุดยึดและชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการขยับตัวของช่วงล่าง โดยมีการปรับค่าในน้อยลง แน่นอนว่าส่งผลเรื่องการขยับตัวที่น้อยลง ส่งผลให้ช่วงล่างกระชับมากขึ้น ประกอบกับ ช็อคอับที่ปรับใหม่ให้มีค่าความหนึดมากกว่าเดิม และส่วนสำคัญของรถรุ่นนี้คือ แหนบ ที่ปรับใหม่ทั้งหมด เฉพาะในรุ่นยกสูงเท่านั้น จากเดิมที่เน้นไปที่เรื่องการบรรทุก จนทำให้ความนุ่มนวลหายไป แต่ในรุ่นใหม่นี้ปรับให้เหลือเพียง 3 แผ่น แต่เปลี่ยนวัสดุใหม่เป็นแบบ High-Tensile Steel ที่แข็งแรงแต่ยืดหยุ่นกว่า ส่งผลโดยตรงเรื่องความนุ่นนวนวล แต่ยังคงรองรับการบรรทุกได้เท่าเดิม ซึ่งเห็นผลมากในช่วงที่ขยับเปลี่ยนเลนอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการทำงานของระบบ VSC (Vehicle Stability Control) อาการหน้าดื้อ รวมถึงการโยนตัวน้อยลงกว่ารุ่นเดิมชัดเจน หรือแม้แต่การขับผ่านพื้นผิวขรุขระ รวมถึงการขับผ่านคอสะพานที่เป็นมุมสัน ก็สามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้เป็นอย่างดี นับว่าครั้งนี้ Toyota ทำมาได้ดี
ดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้เป็นอย่างดี นับว่าครั้งนี้ Toyota ทำมาได้ดี
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า งานนี้ไม่ได้ทดลองสมรรถนะของเครื่องยนต์แบบเต็มกำลัง ทว่ากลับได้สัมผัสกับระบบการทำงานของ เกียร์อัตโนมัติที่ปรับใหม่ที่เพิ่มช่วง Lock-up ของเกียร์ ช่วงเกียร์ 3 ต่อเกียร์ 4 เห็นผลได้ชัดเจน การต่อเกียร์ราบรื่นต่างจากเกียร์อัตโนมัติทั่วๆ ไป อาการดึงหน้าทิ่มหน้าหงายขณะเปลี่ยนเกียร์หายไป แต่การตอบสนองที่ทันถ่วงทียังมีให้เห็น ในขณะเดียวกันแรงบิดก็ไม่ได้ตกลง ส่งผลให้กำลังถูกส่งต่อได้ดีกว่า ต้องบอกว่าในส่วนนี้ Toyota ทำได้ดีอีกเช่นกัน
Off Road Test
ในส่วนของการขับแบบ Off Road เองก็ได้เห็นถึงสมรรถนะ รวมถึงฟังก์ชั่นการทำงานของระบบขับเคลื่อนได้อย่างชัดเจน จากจุดแรกกับการไต่เนินชันระดับ 40 องศา ใน Toyota Hilux REVO 2020 โฉม Rocco มีระบบช่วยเหลือการขับอย่าง HAC (Hill-Start Assist Control) เป็นระบบป้องกันการลื่นไถลขณะขึ้นเนินชัน ซึ่งระบบจะเพิ่มแรงดันเบรกทั้งสี่ล้อเพื่อไม่ให้รถไหลกลับขณะไต่ขึ้น และยังช่วยหยุดรถชั่วขณะแม้ว่าจะถอนเท้าออกจากแป้นเบรก ไม่เพียงเท่านั้นกำลังของเครื่องยนต์ยังมีให้ใช้งานแบบเหลือเฝือ เพียงแค่ประมาณ 1,200 รอบ/นาที ก็สามารถไต่ขึ้นได้สบาย เมื่อมีตัวช่วยในการขึ้นแล้ว ก็ยังมีตัวช่วยในการลงอีก นั้นคือระบบ DAC (Downhill Assist Control) ต้องบอกว่า รุ่นนี้ทำมาได้ดีอีกเรื่อง เพราะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน การประมวลผลที่ละเอียดมากขึ้น สัมผัสได้จากเสียง และการสั่นสะท้านของระบบเบรก ABS น้อยลง ซึ่งปกติแล้วจะมีเสียงดังและมีการสั่นสะท้านค่อนข้างมาก เมื่อรถกำลังไหลลงเนินชันแบบนี้ แต่ใน Toyota Hilux REVO 2020 แทบไม่มีอาการ เลยเรียบลื่น แต่ยังมีการหน่วงหรือรอจังหวะเล็กน้อย เนื่องจากระบบต้องทำการประมวลผลขององศารถ ซึ่งต้องทำงานรวมกับเบรก ABS พูดง่ายๆ คือ ต้องให้รถขยับไหลลงเล็กน้อยก่อนจึงจะเห็นการทำงาน แน่นอนว่างานนี้ไม่จำเป็นต้องเหยียบเบรกช่วยแต่อย่างใด
ทดลองระบบ HAC (Hill-Start Assist Control) เป็นระบบป้องกันการลื่นไถลขณะขึ้นเนินชัน
ระบบ DAC (Downhill Assist Control) ต้องบอกว่า รุ่นนี้ทำมาได้ดีระบบทำงานละเอียดขึ้น
มาถึงในช่วงสุดท้ายกับการวิ่งผ่านเนินสลับ ระบบ DAC ก็ยังทำงานได้ดี ราบรื่น แค่เดินคันเร่งเบาๆ ก็สามารถผ่านได้ไม่ยาก แม้ว่าการขับผ่านเนินสลับจะทำให้ล้อใดล้อหนึ่งหรือสองล้อลอยจากพื้นก็ตาม ต้องบอกว่าการทำงานของ ระบบช่วยเหลือกการขับโดยเฉพาะในโหมด ขับเคลื่อนสี่ล้อนี้ทำงานประสานกันได้อย่างชาญฉลาด ทั้งระบบมีการประมวลผลได้ละเอียดมากขึ้น แม้ว่าบ้างจังหวดจะยังช้าอยู่ในบ้างก็ตาม แต่ไม่ใช่ปัญหาเพราะรูปแบบการขับในแบบ Off Road นั้นไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบแต่อย่างใด
ต้องบอกว่า Toyota Hilux REVO 2020 ได้รับการพัฒนาต่อยอดให้มีสมรรถนะที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งภาพลักษณ์ก็ดูดีขึ้นอย่างผิดตา ทว่าเป็นที่น่าเสียดายที่การทดลองขับในครั้งนี้ มีเวลาไม่มาก จึงยังไม่ได้ทดลองระบบ หรือฟังก์ชั่นการทำงานอื่นๆ อีกหลายรายการ แต่ไม่ต้องเสียดายไว้โอกาสหน้าทีมงาน BoxzaRacing จะนำมารีวิวกันแบบเจาะลึกในทุกส่วนอีกครั้งอย่างแน่นอน
Toyota Hilux REVO 2020 เปิดตัว 40 รุ่นย่อย
มีสีภายนอกให้เลือก 8 สี (สีใหม่ 3 สี)