เขียนโดย: D wisanuporn

เมื่อ: 3 กุมภาพันธ์ 2563 - 09:20

Honda City 1.0 Turbo REIMAGIN Your New Possibilities ภาพลักษณ์ สมรรถนะใหม่ มากกว่าที่ได้ยินมา

          เป็นกระแสอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องของสเปคตัวรถ จนถึงเรื่องของ จำนวนยอดจองที่ทะลุผ่าน 2,000 คัน เพียงแค่สัปดาห์แรกหลังจากที่เปิดตัวไป กระทั่งวันนี้ยังมีเรื่องให้ต้องพูดอีกไม่น้อย สำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดของทาง Honda กับแนวทางใหม่ ความคิดใหม่ที่ถูกบรรจุลงไปใน City 1.0 Turbo หรือรถใน Generation 5 ไม่เพียงแค่เรื่องความใหม่ของตัวรถ แต่สิ่งต่างๆ ถูกกำหนดขึ้นใหม่หมด จนแทบจะเป็นการพลิกรูปแบบการใช้รถหลังจากนี้เป็นต้นไป ทว่าสิ่งนี้จะทำให้เราท่านใช้งานง่ายขึ้นหรือยากกว่าเดิมนั้น ท่านเองเป็นผู้ตัดสินใจจากนี้ไป

 

 

          แน่นอนว่างานนี้ ทีมงาน BoxzaRacing อาจไม่ลงลึกในลายละเอียดของภาพลักษณ์มากเกินไปนัก ไม่ว่าจะเป็นภายนอก หรือภายใน แต่จะพูดกันถึงเรื่องของสมรรถนะและการใช้งานสิ่งต่างๆ ที่ให้มาเป็นหลัก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าจะถูกถามมากขึ้นหลังจากนี้เป็นต้นไป ดังนั้นเราทีมงานเราจึงถือโอกาสรวบรวมสิ่งที่น่าสนใจหลังจากได้สัมผัสกับสมรรถนะของ Honda City 1.0 Turbo อย่างแท้จริงมานำเสนอ เพื่อให้ท่านได้เห็นถึงภาพรวมทั้งหมดของรถยนต์รุ่นใหม่นี้

 

 

ภาพลักษณ์โดยรวมดูดี แต่ฟังก์ชั่นการใช้งานยังขาดๆ เกินๆ

         สำหรับ Honda City 1.0 Turbo นี้ ได้รับการออกแบบใหม่หมด ทั้งภายนอกและภายใน โดยเฉพาะรุ่น Top Line อย่าง RS ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากรุ่นล่างลงมา กระจังหน้าแตกต่างเป็นแบบ Gloss Black ไฟฟ้าและไฟท้ายเป็น LED ในขณะรุ่นรองลงมาเป็นแบบโปรเจคเตอร์ รวมถึงล้อขนาด 16 นิ้ว เพียงรุ่นเดียว อีกทั้งตัวถังของรุ่นใหม่นี้ ก็ได้มีการแชร์ส่วนประกอบกับ Honda Fit 2020 รุ่นล่าสุดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งข้อมูลที่ได้รับมา Honda City 1.0 Turbo จะมีส่วนประกอบเหมือนกันในบางส่วนตรงบริเวณผนังห้องเครื่อง ตลอดจนพื้นตัวถังที่ใช้เหมือนกัน หลายคนอาจเข้าใจว่ารุ่นใหม่นี้ จะต้องมีน้ำหนักตัวเบาลง เพราะว่าเครื่องยนต์ใหม่มีขนาดความจุน้อยลง  

 

 

         แต่ในความเป็นจริงแล้ว Honda City 1.0 Turbo มีการใช้วัสดุใหม่ ในบางจุดอย่างที่พูดไป ทำให้เฉพาะโครงสร้างตัวถังเท่านั้นที่เบาลง 4.3 กิโลกรัม แต่ให้ความแข็งแรงเพิ่มขึ้น 20.5 %  ทว่าน้ำหนักรวมทั้งคันกลับมีมากกว่ารุ่นเก่า เพราะว่ามีส่วนประกอบอื่นๆ เพิ่มขึ้น โดยน้ำหนักของ Honda City 1.0 Turbo รุ่น RS อยู่ที่ 1,165 กิโลกรัม แถมให้อีกนิดก่อนไปสรุปการขับจริง โดยในรุ่นใหม่นี้ยังมีส่วนที่พัฒนาขึ้นและเห็นผลค่อนข้างมากเวลาขับด้วยความเร็ว นั่นคือ เรื่องการเก็บเสียง โดยรุ่นใหม่นี้ทำออกมาได้ดีทีเดียว เมื่อเทียบกับรุ่นที่ผ่านๆ มา โดยการใช้สเปรย์โฟม Polyurethane ฉีดเข้าไป 2 จุด ที่โคนเสา A และเสา B อีกทั้งยังเพิ่มขนาดความหนาของแท่นรองใต้เครื่องยนต์มากขึ้น ทำให้เสียงลอดเข้ามาได้น้อยลง ต้องบอกว่าสิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของ Honda City 1.0 Turbo    

 

 

          สำหรับการทดลองขับครั้งนี้ ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขการขับปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ได้วิ่งในพื้นที่ปิดแบบสนามแข่ง โดยเน้นหนักไปในรูปแบบเดินทางไกลมากกว่า เพราะเส้นทางที่ใช้นั้น ออกห่างจากตัวเมือง แน่นอนว่าการจราจรไม่หนาแน่น และแม้จะไม่ได้สัมผัสกับการใช้งานในเมืองแบบเต็มรูปแบบ แต่รับรู้ได้ถึงความสะดวกสบายได้พอสมควร ด้วยพื้นที่ภายในที่กว้างเพียงพอต่อการใช้งาน การจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ทำได้ดีพอควร จะมีแค่บางส่วนเท่านั้นที่ยังไม่เหมาะลงตัว เบาะนั่งทั้งฝั่งคนขับ และคนนั่งข้าง ขนาดกำลังดีเด่นด้วยวัสดุผสมกันสามแบบ นั่งสบายแม้จะใช้ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร แต่ทางด้านคนขับต้องปรับตั้งกันพอสมควร เนื่องจากความสูงต่ำของเบาะนั่ง ยังไม่สัมพันธ์กับหน้าปัดเวลามอง แม้ว่าต่ำแหน่งของเบาะนั่งจะต่ำลงจากรุ่นเดิมกว่า 10 มิลลิเมตร ก็ตาม แต่ยังดีมีพวงมาลัยขนาดกำลังพอดีกับวงแขนและปรับได้ 4 ทิศทาง เข้ามาช่วยลดปัญหาการจัดท่านั่งได้ไม่น้อย  

 

 

          สิ่งอำนวยความสะดวกมีให้ใช้ได้พอดี หากเดินทางไปสองคน ช่องต่อ USB ด้านหน้ามี 2 จุด ซึ่ง 1 ใน 2 จุดนี้ สามารถเชื่อมต่อกับระบบเครื่องเสียงได้ แต่หากมีผู้โดยสารมากกว่า 3 คน ดูจะไม่ลงตัวมากนัก เพราะด้านหลังเป็นเพียงช่องจ่ายไฟสำรองให้ 2 จุด แถมมีที่วางแขนกั้นกลาง ซึ่งนั่นแสดงจุดประสงค์โดยตรงว่าต้องการมีผู้โดยสารด้านหลังกี่คน สรุปแล้วรุ่นนี้เน้นใช้งานแบบมีผู้โดยสารไม่เกิน 4  คน ลงตัวที่สุด ทั้งที่เป็นรถ B Segment แบบ 5 ที่นั่ง ระบบสั่งการที่พวงมาลัยมีให้ครบ สอดคล้องกับการทำงานของระบบเครื่องเสียง การเชื่อมต่อโทรศัพท์ รวมไปถึงสวิทช์ควบคุมความเร็วอัตโนมัติหรือ Cruise Control รวมไปถึงแป้นเปลี่ยนเกียร์หลังพวงมาลัย หรือ Paddle Shift ขนาดพอดี และที่สำคัญเป็นแบบหมุนตามพวงมาลัย

 

 

          การเชื่อมต่อที่ค่อนข้างทันสมัยเทียบเท่ากับรุ่นใหญ่ในค่าย ด้วยเทคโนโลยี  Honda Connect  ที่จะมาพร้อม 8 ฟังก์ชั่น การทำงานหลัก แต่ทั้งนี้ยังไม่สามารถทำงานแบบ Real Time ได้ทั้งระบบ นอกจากสั่งการสตาร์ทรถ, ล็อครถ และเปิดปิดไฟแล้ว การแจ้งเตือนสถานะต่างๆ ทั้งเรื่องวันเข้าเซอร์วิส การแจ้งความผิดปกติของรถ ส่วนอื่นๆ ยังคงต้องประสานกับทางผู้ให้บริการอยู่ รวมถึงเรื่องการเชื่อมต่อ Wi Fi ในรถที่ใช้ได้ถึง 5 อุปกรณ์ แต่ทั้งนี้ลูกค้าต้องจ่ายค่าแพ็คเกจเองเมื่อหมดสัญญาปีแรก แน่นอนว่าที่กล่าวมา...มีในเฉพาะรุ่น  RS

 

ครื่องยนต์ 3 สูบ ขนาด 1.0  VTEC Turbo  พัฒนาใหม่หลายจุด  

         ทีนี้มาในส่วนของสมรรถนะที่หลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับ Honda City 1.0 VTEC Turbo ว่า เครื่องยนต์เล็กขนาด 3 สูบ จะมีเรี่ยวแรงมากพอไหม เครื่องเทอร์โบจะประหยัดได้อย่างไร หรือแม้แต่เรื่องของช่วงล่างว่าจะดีหรือด้อยขนาดไหน สิ่งเหล่านี้มีคำตอบ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ 1.0 VTEC Turbo ใหม่นี้ สามารถพาตัวถังที่มีน้ำหนัก 1,165 กิโลกรัม ไปได้อย่างสบาย แถมยังมีระบบฉีดเชื้อเพลิงแบบฉีดตรง พร้อม Dual VTC เมื่อเราพิจารณาจากกำลังเครื่องยนต์ 120.29 แรงม้า พร้อมแรงบิด 173 นิวตัน-เมตร แล้ว ไม่น่าจะใช่ปัญหาของเรื่องนี้แน่นอน เพราะกำลังของ Honda City 2014  รุ่นก่อน ที่เป็นเครื่องยนต์ VTEC ขนาด 1.5 ลิตร (1,497 ซีซี.) ยังมีกำลังน้อยกว่า 3.29  แรงม้า และมีแรงบิดที่ 146 นิวตัน-เมตร ซึ่งก็น้อยกว่าเช่นกัน  

 

 

          จะเห็นว่า...เรายังไม่พูดถึงเรื่องเทอร์โบเลยแม้แต่น้อย ว่ามีเพื่ออะไร เพราะอย่างที่รู้กันมาพอสมควรแล้วว่า เครื่องยนต์แบบ 3 สูบนั้น ไม่ว่าจะเป็นของค่ายไหนก็ตาม ถูกสร้างมาเพื่อความประหยัดสูงสุด ในขณะเดียวกันเทอร์โบที่เสริมเข้าไปเพื่อชดเชยข้อด้อยเรื่องกำลังของเครื่องความจุน้อย แต่ในความเป็นจริงแล้วเทอร์โบนี้ มีจุดประสงค์หลักเพื่อต้องการลดมลพิษจากการเผ้าไหม้มากกว่า แต่ความแรงนั้นเป็นผลพลอยได้ แน่นอนว่าสอดคล้องกับ เงื่อนไขโครงการ Eco Car เฟส 2 แถมยังผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro 5 และปล่อยก็าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 99 กรัม/กิโลเมตร ทั้งที่จริงแล้ว...รุ่นนี้ไม่ใช่รถ Eco Car 

 

 

          ในทางเทคนิคเทอร์โบที่เสริมเข้าไป ก็เพื่อให้เครื่องยนต์มีสรรมถนะสูงขึ้น อย่างที่เห็นเครื่องยนต์ของ Honda City 1.0 Turbo นี้ ให้ทั้งกำลังและ แรงบิดมากกว่า ทั้งที่ใช้รอบเครื่องน้อยกว่าเครื่อง 1.5 ลิตร หากรีดกำลังเพื่อให้ได้ตัวเลขเท่ากันหรือใกล้เคียงกันแล้ว ย่อมประหยัดกว่าอย่างเห็นได้ชัด มีคำถามต่อว่า ส่วนมากแล้วเครื่องยนต์เทอร์โบทำให้ชิ้นส่วนภายในทำงานหนักกว่าปกติ ? คำตอบคือ ใช่ แต่กับเครื่องตัวนี้ ได้รับการพัฒนามาค่อนข้างดี มีการขจัดปัญหาเรื่องของการสะสมความร้อน อีกทั้งเทคโนโลยีการลดอุณหภูมิก่อนเข้าห้องเผาไหม้ด้วยน้ำ แทนที่จะเป็นแบบแลกเปลี่ยนความร้อนด้วยอากาศ เหตุที่ใช้น้ำเพื่อลดความร้อนอากาศ เพราะมีความเสถียรมากว่าการระบายความร้อนด้วยอากาศนั่นเอง แน่นอนว่าเมื่ออากาศที่มีอุณหภูมิน้อยก็จะยิ่งหนาแน่น ทำให้ไอดีผสมกับเชื้อเพลิงได้ดียิ่งขึ้น ผลที่ได้คือ ความแรงแบบไม่ต้องออกแรง และทั้งนี้ Honda ยังได้พัฒนาเรื่องของช่องทางเดินอากาศก่อนเข้าห้องเผาไหม้ใหม่ให้โค้งน้อยลง ส่งผลให้การไหลของไอดีเร็วขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับระบบแปรผันระยะยกของวาล์ว VTEC ซึ่งแปรผันระยะยกของวาล์วฝั่งไอดี ผลคือ ไอดีจำนวนมากเข้าสู้ห้องเผาไหม้ ได้เร็วขึ้น ลดปัญหาขนาดท่อทางเดินที่เล็กได้เป็นอย่างดี

 

ประสิทธิภาพและสมรรถนะ...เกินคาดหมาย

          และจากที่ได้ทดลองกำลังครั้งนี้ บอกได้เลยว่าเครื่องยนต์ 1.0 Turbo นี้ มีกำลังให้ใช้งานได้ไม่น้อยทีเดียว ซึ่งเทอร์โบสามารถสร้างแรงอัดอากาศ (ฺBoost Turbo) ได้เต็มที่ 1.0 บาร์ ซึ่งเริ่มบูสท์ตั้งแต่ 1,500 รอบ/นาที แล้วมาเต็มที่ 2,000 -4,500 รอบ/นาที ที่สำคัญกำลังมีให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากเกียร์แบบ CVT ที่มีอัตราทดต่อเนื่อง โดยครั้งนี้ได้ทดลองวิ่งแบบ Top Speed ใน D Mode จากความเร็วที่ 100 -200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผลที่ได้เครื่องยนต์ตอบสนองได้ดี แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือ ระบบเกียร์ที่มีจังหวะเปลี่ยนในรอบสูงที่ 5,500  รอบ/นาที เกือบชิด Rad Line เป็นอาการในแบบเกียร์อัตโนมัติทั่วไป ไม่ได้ไหลลื่นตามปกติของเกียร์ชนิดนี้ แต่ทั้งนี้ไม่มีอะไรแปลก เพราะนี่เป็นการปรับจูนจากโรงงาน เพื่อลดโอกาสการเกิดความเสียหายของเกียร์นั่นเอง 

 

 

          โดยเส้นทางที่ทดลองวิ่งครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นโค้ง และทางขึ้นลงที่ค่อนข้างชัน สามารถรองระบบบังคับเลี้ยว และการทำงานของช่วงล่างได้เป็นอย่างดี และผลที่ได้คือ ช่วงล่างตอบสนองได้ดี เก็บอาการได้หมดในช่วงความเร็วต่ำ ไปถึงปานกลาง อาการยวบโยนมีเป็นบางจังหวะไม่ถึงกับย้วย ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือโค้ง เช่นเดียวกับพวงมาลัยที่ตอบสนองได้อย่างเหมาะสม แต่เมื่อใช้ความเร็วมากกว่าปกติในชีวิตประจำวัน รถเริ่มมีอาการให้เห็นบาง ยิ่งหากดื้อวิ่งเข้าโค้งไปแบบ Over Speed  จะชัดเจนขึ้น เช่นเดียวกับพวงมาลัยที่บ้างครั้งตอบสนองไม่ทัน เพราะมีการปรับหน่วงไว้เล็กน้อย ต้องเผื่อไว้นิดหน่อยเมื่อเจอโค้งสลับต่อเนื่อง แต่น้ำหนักดี ไม่เบาหรือหนักเกินไปจนเหนื่อยเมื่อต้องขับทางตรงนานๆ รวมถึงระบบเบรกที่ต้องปรับตัวเล็กน้อยในช่วง 2-3 กิโลเมตรแรก หลังจากนั้นไม่ยากระยะเบรกเป็นไปตามต้องการ  จะหนักหรือเบาก็สามารถตอบสนองได้เป็นอย่างดี เกินคาด ชนิดหยุดความเร็วได้ทุกระดับ  

 

 

          สำหรับอัตราสิ้นเปลืองที่ทางโรงงานแจ้งไว้ที่ 23.8 กิโลเมตร/ลิตร นั้น คงต้องนำมาทดลองขับหาอัตราสิ้นเปลืองอีกครั้งว่าจะใกล้เคียงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเน้นเรื่องสมรรถนะกับการทำความเร็วที่ 120-140 กิโลเมตร/ชั่วโมง กับ S Mode และลากรอบตลอดการเดินทาง บางครั้งลากรอบไปจนเกียร์เปลี่ยนเองอัตโนมัติเมื่อเกิน 5,500 รอบ/นาที ซึ่งได้ตัวเลขบนหน้าปัดมาที่ 12.8  กิโลเมตร/ลิตร โดยไม่ได้รีเซตค่า หรือประคองคันเร่งแต่อย่างใด ตั้งแต่ออกจากจุดเริ่มต้นกระทั่งสิ้นสุดการทดลองขับ

 

 

          สรุปเรื่องประสิทธิภาพและสมรรถนะของ  Honda City 1.0 Turbo ในรุ่น RS โดยรวมดีกว่าที่กระแสตั้งคำถามหรือฟันธงกันไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ที่ดูลงตัว ตั้งแต่ด้านหน้าจรดท้าย  เทคโนโลยีความล้ำสมัยที่ใช้งานได้เหมาะสม แม้ว่าหลายคนจะมองว่าน้อยไปกับราคาค่าตัว แต่ลองเปรียบเทียบกับรุ่นก่อน จะเห็นว่ามีความคุ้มค่าไม่น้อย โดดเด่นเรื่องการเก็บเสียง และเครื่องยนต์ที่ให้กำลังในการใช้งานมากพอ จะในหรือนอกเมือง แน่นอนว่าการเดินทางไกลก็ตอบสนองได้ดี ระบบช่วงล่างเดิมที่ตอบสนองลงตัวกับกำลังของเครื่องยนต์ในย่านความเร็วที่ปลอดภัย แต่ด้อยไปเล็กน้อยเมื่อต้องใช้ความเร็วสูงจัด ระบบเบรกสร้างความมั่นใจได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญมีความประหยัดไม่น้อย

 

 

          สุดท้ายกับเรื่องการบำรุงรักษาที่มาในรูปแบบใหม่ สำหรับ Honda City 1.0 Turbo จะไม่ใช้รูปแบบนับระยะทางหรือเวลาในการใช้งานในแบบเดิมๆ แต่จะใช้การประมวลผลจาก ECU แล้วแจ้งเตือนไปที่หน้าจอ รวมถึงระบบ Honda Connect โดยอ้างอิงจาก รอบเครื่องยนต์, อุณหภูมิน้ำหล่อเย็น, อุณหภูมิน้ำมันหล่อลื่น, กำลังเครื่องยนต์ที่แปรผันที่ดูจากแรงบิด และโหลดของเครื่องยนต์ที่เปลี่ยน โดยจะใช้สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดมาเป็นเกณฑ์ในการแจ้งเตือนให้ผู้ใช้รถนำเข้ารับบริการที่ศูนย์ ใครใช้งานหนักมากก็เข้าเร็ว ใช้เบาก็ยืดระยะออกไปอีก แต่ทั้งนี้ไม่ควรเกินระยะ 15,000 กิโลเมตร นับเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ที่พลิกรูปแบบเดิมๆ ไปจนเกือบหมด แต่อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า Honda City 1.0 Turbo จะทำให้เราท่านใช้งานง่ายขึ้นหรือยากกว่าเดิมนั้น...ท่านเองเป็นผู้ตัดสินใจ

 

Honda City 1.0 Turbo มีให้เลือกทั้งหมด 4 รุ่น

รุ่น RS   ราคา 739,000 บาท

รุ่น SV   ราคา 665,000 บาท

รุ่น V     ราคา 609,000 บาท

รุ่น S     ราคา 579,000 บาท

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook