หลังจากเปิดอย่างเป็นทางการ ทางบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด แถลงข่าวเปิดตัว All New Mazda 3 ไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน และเปิดตัวพร้อมกันทั้งสองรูปแบบทั้ง Fastback 5 ประตู และ Sedan 4 ประตู และหลังจากที่เปิดตัวไม่นาน ทางบริษัทฯ ได้จัดกิจกรรมทดลองสมรรถนะของรถเจเนอเรชั่นล่าสุดนี้ด้วย โดยการทดลองขับในครั้งนี้ใช้เส้นทางในจังหวัดภูเก็ต กับระยะทางกว่า 240 กิโลเมตร
และสำหรับการทดลองขับครั้งนี้จะพูดเฉพาะรุ่น Sedan เท่านั้น ซึ่งตลอดเส้นทางในการทดลองขับครั้งนี้ทีมงาน Boxzaracing มีโอกาสเป็นทั้งผู้ขับ และผู้โดยสาร โดยผลที่ได้นั้นไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของ ประสิทธิภาพของช่วงล่าง สมรรถนะของเครื่องยนต์ หรือระบบความปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องความรู้สึกต่อประสาทสัมผัสด้วย ซึ่ง All New Mazda 3 ปี 2019 นี้ก็ส่งมาถึงไม่น้อยทีเดียว สมกับเป็นรถที่สร้างจากการคิดคำนึงถึง การเคลื่อนไหว ด้วยเส้นสายเพียงเส้นเดียว ซึ่งความหมายนี้ ไม่ได้นำมาใช้จำกัดความเพียงแค่ตัวรถ แต่ยังสอดประสานมาที่ตัวคนอีกด้วย
หลายส่วนของตัวรถที่ไม่จำเป็นถูกลด ตัดทอนออกไป แต่กลับให้ความลงตัวมากกว่าเดิม
ในเรื่องของการสัมผัสแรกที่เห็น ตัวรถมีการออกแบบตามสไตล์ KODO ภาพลักษณ์ใหม่ที่ถูกพัฒนาต่อยอดจากรุ่นก่อน เรียบง่ายขึ้น ชัดเจนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลายส่วนของตัวรถที่ไม่มีความจำเป็นถูกลด ตัดทอนออกไป แต่กลับให้ความลงตัวมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้ากับชุดไฟใหม่ ที่รวมไว้ในจุดเดียวกัน ด้านข้างตัดเส้นสันที่ทำให้เกิดความกระด้างออกหมด เช่นเดียวกับส่วนท้ายที่พยายามทำให้กลมกลืนเป็นชิ้นเดียวกันระหว่างกันชน ฝาปิดท้าย และชุดไฟท้าย
ตัวรถมีการออกแบบตามสไตล์ KODO ภาพลักษณ์ใหม่ที่ถูกพัฒนาต่อยอดจากรุ่นก่อน เรียบง่ายขึ้น ชัดเจนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
องค์ประกอบอื่นๆ อย่างการจัดวางตำแหน่งของชิ้นส่วน อุปกรณ์ภายใน ทำให้ใช้งานง่ายขึ้น เน้นผู้ขับเป็นศูนย์กลางการควบคุม ลดความซับซ้อนในการสั่งการระบบ แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการทำงานนั้นมีสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ส่วนรายละเอียดเล็กน้อยแต่ให้ความรู้สึกขัดต่อการใช้งาน ถูกปรับใหม่ให้เหมาะสมมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนพื้นที่ควบคุมอย่างที่นั่งคนขับ สามารถปรับได้ค่อนข้างอิสระ สวิทช์ควบคุมบริเวณคอนโซล และคอนโซลพาแนล ใช้งานได้ราบลื่นไม่ติดคัด เบาะที่นั่งรองรับสรีระของผู้ขับได้หลากหลายขนาด เช่นเดียวกับพวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นที่มีให้ครบทั้งปุ่มกด และแบบสลับ มาพร้อมขนาดไม่ใหญ่เกินวงแขน ทำให้การควบคุมเป็นไปอย่างเหมาะสม ห้องโดยสานตอนหลังมีความพอดีกับรูปร่างปกติคนเอเซีย รวมไปถึงความบันเทิงที่ได้จากชุดเครื่องเสียง BOSE ส่งผลให้การขับรถเป็นเรื่องสนุก และผ่อนคลายไปในเวลาเดียวกัน
เน้นผู้ขับเป็นศูนย์กลางการควบคุม ลดความซับซ้อนในการสั่งการระบบ พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่นมีครบทั้งปุ่มกด และแบบสลับ
เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด พร้อมระบบ Skyactiv-Drive
เรื่องสมรรถนะที่ต้องพูดถึงเป็นพิเศษอยู่ที่เครื่องยนต์ เจเนอเรชั่นใหม่ แม้จะยังเป็นเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบขนาด 2.0 ลิตร (1,998 ซีซี.) พร้อมเทคโนโลยี Skyactiv-G แต่มีกำลังสูงขึ้นกว่าเดิมจากรุ่นก่อนเป็น 165 แรงม้าที่รอบเครื่อง 6,000 ส่วนแรงบิดสูงถึง 213 นิวตัน-เมตรที่ 4,000 รอบ/นาที กำลังที่สูงขึ้นได้มาจากการปรับเปลี่ยนลูกสูบเป็นแบบหัวนูนใหม่ รวมถึงแหวนลูกสูบที่ขยับตำแหน่งให้เหมาะสม ส่งผลให้กำลังอัดดีกว่า นอกจากนี้ยังปรับระบบการจ่ายเชื้อเพลิง และระบบควบคุมน้ำหล่อเย็นให้ดีขึ้น ดูแล้วเครื่องยนต์นี้น่าเหมาะกับสภาพการณ์ และอากาศบนถนนเมืองไทย และหากดูจากกำลัง และสมรรถนะของเครื่องยนต์แล้ว รุ่นนี้ถือว่าเป็นเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร ที่ให้กำลังสูงสุดในรถกลุ่ม D Segment ณ เวลานี้
เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 2.0 ลิตร เทคโนโลยี Skyactiv-G เปลี่ยนลูกสูบเป็นแบบหัวนูนใหม่ รวมถึงแหวนลูกสูบที่ขยับตำแหน่งใหม่
ระบบส่งกำลังที่เป็นเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด พร้อมระบบ Skyactiv-Drive ทำงานผ่านระบบ Activematic Mode ซึ่งผลจากการทดลองขับ สิ่งแรงที่ได้รับเป็นเรื่องของอัตราเร่งแซง การตอบสนองของเกียร์อยู่ในขั้นที่ตอบสนองได้เร็ว ทั้งการใช้ Sport Paddle Shift หรือให้ระบบจัดการเอง และสิ่งหนึ่งที่อาจทำให้ใครหลายคนชอบ เป็นเรื่องของเสียงการทำงานของเครื่องยนต์แท้ๆ ไม่ได้ผ่านการสังเคราะห์
อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือระบบช่วงล่าง กึ่งอิสระทอร์ชั่นบีม ที่ด้านหลัง แม้ไม่ได้ปรับเปลี่ยนจนหมดตามรถส่วนใหญ่ในตลาด แต่กลับนำเอาของเดิมมาพัฒนาไปพร้อมกับโครงสร้างตัวถังใหม่ โดยลดขนาดชิ้นส่วนให้เล็กลง แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นกลับให้ความแข็งแรง อีกทั้งยังดึงเอาจุดเด่นของสิ่งที่มีอยู่ออกมาใช้ได้อย่างดี จนน่าแปลกใจ ผลที่ได้คือการทรงตัวทั้งทางตรง ทางโค้งมีความเสถียรกว่ารุ่นที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด และโดดเด่นที่สุดคงอยู่ที่การทรงตัวระหว่างอยู่ในโค้งที่ทาง Mazda นำเสนอไว้ก่อนหน้านี้ เป็นการทำงานประสานกันอย่างลงตัวของทั้ง พวงมาลัย ช่วงล่าง เบรก ซึ่งทั้งหมดถูกรวมอยู่ในระบบช่วยเหลือที่เรียกว่า GVC Plus (G-Vectoring Control Plus ) ทำให้ความคิดเรื่องของช่วงล่างแบบดั่งเดิมที่ว่าด้อยกว่ารูปแบบใหม่ ถูกลบออกไป การเบรกก่อนเข้าโค้ง การรักษาความเร็วอยู่ในโค้ง และพุ่งออกจากโค้งมีความเสถียร แม้ว่าจะเป็นผู้โดยสารตอนหลังก็ยังสัมผัสได้
ทำงานประสานกันอย่างลงตัวของ พวงมาลัย ช่วงล่าง เบรก ถูกรวมอยู่ใระบบช่วยเหลือ GVC Plus (G-Vectoring Control Plus )
ส่วนระบบความปลอดภัยในที่นี้จะพูดถึงเรื่องของเบรกเป็นหลัก ในรุ่นใหม่นี้เป็นดิสก์เบรกสี่ล้อ พร้อมระบบช่วยเบรก แบบ Advance SBS (Advance Smart Brake Support) ต้องบอกว่าในยุคที่มีการแข่งขันในเรื่องของเทคโนโลยี ความปลอดภัยนี้จะเป็นตัวสำคัญในการชี้วัดประสิทธิภาพมากกว่าสมรรถนะของเครื่องยนต์เสียอีก สิ่งนี้ดูท่าผู้ผลิตจะเข้าใจ และให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ จากการทดลองขับครั้งนี้ มีโอกาสได้สัมผัสกับการเบรกในหลายรูปแบบ ทั้งชลอเบรก เบรกลึก หรือแม้แต่การกระแทกเบรกแบบกะทันหัน ระบบช่วยเหลือมีการตอบสนองได้รวดเร็วเมื่อพบว่าการเบรกนั้นไม่ได้อยู่ในระยะความปลอดภัย
สรุปผลจากการทดลองขับในครั้งนี้ ไม่ได้อ้างอิงจากผลรวมทั้งหมด แต่มาจากการขับจริงในสถานะการณ์จริงบนท้องถนน นั่นหมายถึง การใช้รถในแบบที่แตกต่างกันตามสภาพจราจร ซึ่งไม่ได้อยู่ในเงื่อนไข หรือข้อกำหนดเดียวกันเหมือนในสนาม ความเร็ว อัตราสิ้นเปลือง หรือสิ่งที่สะท้อนกลับมายังผู้ขับย่อมแตกต่างกันไป แม้จะขับรถคันเดียวกันก็ตาม เพราะฉะนั้นผลสรุปย่อมแตกต่างกัน การที่ทีมงาน Boxzaracing ทดลองขับ แล้วนำกลับมาถ่ายทอดนั้นเป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่งในเรื่องของ ประสิทธิภาพ และสมรรถนะ ของรถที่ได้สัมผัสเท่านั้น ไม่ได้สรุปว่ารถดี หรือด้อยอย่างไร ส่วนท่านที่สนใจสามารถทดลองขับด้วยตัวเองได้ที่ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ Mazda ทั่วประเทศ