เขียนโดย: D wisanuporn

เมื่อ: 2 กันยายน 2562 - 14:08

Suzuki All New Carry ลองแล้วรู้ว่า นี่คือรถเพื่อการพาณิชย์อย่างแท้จริง

          หลังจากเปิดตัวไปเมื่อกลางเดือนสิงหาคม พร้อมยอดจองเป็นที่น่าพอใจกับ Suzuki All New Carry รุ่นใหม่ล่าสุดที่เป็นผลผลิตจากประเทศอินโดนิเซีย ก่อนจะนำมาประกอบในบ้านเรา งานนี้ทีมงาน Boxzaracing  ได้รับเกียรติจาก บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมทดลองขับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์รุ่นใหม่ล่าสุดนี้ โดยงานนี้ คุณวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด เป็นผู้กล่าวตอนรับ และครั้งนี้ใช้เส้นทางปกติ ไม่ต่างจากการขับรถใช้งานทั่วไป มีทั้งเส้นทางในเมือง ไฮเวย์ และในเขตชุมชน ในจังหวัด ฉะเชิงเทรา

 

 คุณวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กล่าวตอนรับ 

 

Image

           ไม่ต้องพูดอะไรมากมาย มาดูที่เรื่องของตัวรถกันเลยว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นก่อนมากน้อยขนาดไหน สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเรื่องของการออกแบบ ซึ่งทิ้งความเป็น Suzuki Carry แบบเดิมไปหมด โดยรุ่นใหม่นี้มีหน้าตาที่ดูเป็นรถเพื่อการพาณิชย์มากขึ้น ด้านหน้าดูแล้วค่อนข้างลงตัว ไฟหน้าขนาดไม่ใหญ่มาก ไฟเลี้ยวอยู่ในโคมเดียวกัน กระจกมองข้างใหญ่ปรับด้วยมือ บริเวณพื้นที่ด้านหลังยังเป็นกระบะแบบพื้นเรียบ เปิดได้สามด้านขอบกระบะยกสูง 360 มิลลิเมตร พร้อมกันกระแทกที่กระจกบานหลัง บาร์สำหรับพาดของยาวพร้อมตัวกั้น ที่หลายคนมองข้ามถึงประโยชน์ก็ยังคงมีให้เห็นในรุ่นนี้อยู่  

 

ไฟหน้าขนาดไม่ใหญ่มาก ไฟเลี้ยวอยู่ในโคมเดียวกัน

 

บริเวณพื้นที่ด้านหลังเป็นกระบะแบบพื้นเรียบ เปิดได้สามด้านขอบกระบะยกสูง 360 มิลลิเมตร

 

           ส่วนความแตกต่างเมื่อนำ Suzuki All New Carry มาเทียบกับรุ่นเก่าในทุกมิติแล้ว จะเห็นว่ามีความกว้างมากขึ้น 85 มิลลิเมตร จากเดิม 1,680 มิลลิเมตร และความยาวที่มากกว่าเดิม 40 มิลลิเมตร จากเดิม 4,195 มิลลิเมตร  ทว่าฐานล้อสั้นลงถึง 420 มิลลิเมตร จากเดิม 2,205 มิลลิเมตร เช่นเดียวกับความสูงใต้ท้องที่ลดลงมา 20 มิลลิเมตร แน่นอนว่าเป็นผลดีในเรื่องของความสะดวกเมื่อต้องใช้งานบรรทุก การขนของขึ้นลงง่ายกว่าเดิม น้ำหนักรวมตัวรถก่อนบรรทุกเบากว่ารุ่นเก่าอยู่ 20  กิโลกรัม ซึ่งรุ่นเก่ามีน้ำหนักที่ 1,085 กิโลกรัม แต่รุ่นใหม่กลับสามารถบรรทุกได้มากกว่า 100  กิโลกรัม จากเดิมที่บรรทุกได้ 845 กิโลกรัม ตามที่โรงงานกำหนด

 

ซุ้มล้อที่เคยเห็นอยู่ในห้องโดยสารของรุ่นเก่าหายไป

 

คอลโซลหน้ารูปแบบใหม่ อุโมงค์เกียร์หายไป เหมือนกับรถตู้

 

          ภายในนั้นกว้างกว่าอย่างเห็นได้ชัด เป็นผลมาจากการปรับช่วงล่างด้านหน้าให้ถอยล่นไปด้านหลัง ทำให้ซุ้มล้อที่เคยเห็นอยู่ในห้องโดยสารของรุ่นเก่าหายไป ซึ่งไม่เพียงแค่นั้นยังทำให้การขึ้นลงง่ายกว่ารุ่นเดิมหลายเท่า เบาะนั่งกึ่งโซฟาตามแบบฉบับรถเพื่อการพาณิชย์ แยกของคนขับและคนนั่งออกมีเบรกมือคั่นตรงกลาง โดยฝั่งคนนั่งปรับเดินหน้า ถอยหลัง รวมถึงพนักพิง จุดเด่นอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้ห้องโดยสารกว้างอยู่ที่คอลโซลหน้ารูปแบบใหม่ ซึ่งจะเห็นว่าอุโมงค์เกียร์หายไป เพราะถูกย้ายไปอยู่บนคอลโซลเหมือนกับรถตู้ ระบบการทำงานต่างๆ มีมาให้ใช้ตามความเหมาะสม โดยรวมแล้วค่อนข้างลงตัว

 

Performance

           มาถึงเรื่องของเครื่องยนต์ รุ่นนี้เป็นเบนซิน 4 สูบ 16 วาล์ว รหัส K15B ขนาด 1.5 ลิตร (1,462 ซีซี.) ให้กำลังในการใช้งานที่ 97 แรงม้าที่ 5,600 รอบ/นาที ส่วนแรงบิดอยู่ที่ 135 นิวตัน-เมตร ที่ 4,400 รอบ/นาที แน่นอนว่าสเปคนี้คือเครื่องยนต์ที่อยู่ใน Suzuki  Ertiga  แต่ต่างกันที่ระบบขับเคลื่อน ซึ่ง Suzuki  All New Carry นี้เป็นแบบขับเคลื่อนล้อหลัง ที่มีอัตราทดเฟืองท้ายอยู่ที่ 4.875 ส่งกำลังผ่านเกียร์ธรรมดา 5 สปีด เกียร์กำลังอยู่ที่เกียร์ 4 อัตตราทดเกียร์อยู่ที่ 1.000 พอดี และ Over Drive  มีอัตตราทดที่ 0.855  เมื่อเทียบกับ Suzuki Carry รุ่นเก่าที่เกียร์กำลังอยู่ที่เกียร์ 5 และเฟืองท้ายอยู่ที่ 4.300 นั้นหมายความว่ารุ่นใหม่นี้ จะให้กำลังแรงบิดที่ดีกว่า ตอบสนองในเรื่องของการเร่งแซงได้ดีกว่า และหากดูจากอัตราทดเฟืองท้ายแล้วรุ่นใหม่นี้ใช้รอบเครื่องน้อยกว่า แน่นอนว่าความประหยัดก็มากกว่า

 

เบนซิน 4 สูบ 16 วาล์ว รหัส K15B ขนาด 1.5 ลิตร 97 แรงม้าที่ แรงบิด 135 นิวตัน-เมตร

 

          ในส่วนของเรื่องเกียร์นี้ก็ยังมีอีกหลายคนสงสัยว่าทำไม ไม่มีเกียร์แบบอัตโนมัติ งานนี้ก็สุดแล้วแต่จะคิด แต่หากให้เราทีมงาน Boxzaracing ตอบก็ต้องบอกว่า คนที่ถามคงขับรถเกียร์ธรรมดาไม่เป็นจนร้องหา แต่ในความเป็นจริงแล้วประเด็นไม่ได้อยู่ที่เรื่องของเกียร์ แต่อยู่ที่ว่าจุดประสงค์ของรถ คือทำมาเพื่อการพาณิชย์รูปแบบใหม่ที่ไม่จำกัดแค่เรื่อง Logistic แต่เอาไปปรับใช้กับการทำธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องขับไปไกล หรือขับบ่อยครั้ง นั่นหมายความว่า จากจุดเริ่มต้นไปสู่ปลายทางถึงแล้วก็จอดซึ่งดูแล้วน่าจะไม่ไกลเกินไป เพราะฉะนั้นแล้วการที่เลือกใช้เกียร์ธรรมดาน่าจะเป็นคำตอบที่ดี และที่สำคัญรถคันนี้มีครัทช์ใช้ง่ายไม่หนักมากจนเกินกำลัง หากพูดถึงความเหมาะสมในเรื่องของความทนทานโดยเฉพาะกับคำว่ารถบรรทุกขนาดเล็กแบบนี้แล้วค่อนข้างลงตัวทีเดียว ซึ่งในทางอ้อมแล้วสามารถลดต้นทุนในการทำธุระกิจได้มาก ไม่ต้องค่อยกังวลเรื่องการซ่อมแซมระบบเกียร์กันบ่อยครั้ง อย่าลืมว่านี่คือรถบรรทุกที่ต้องการความทนทานแข็งแรงมากกว่าความสะดวกสบายเกินความจำเป็น

 

ช่วงล่างหลังแบบคานแข็งพร้อมแหนบ 5 ชั้น และแชสซี่ผลิตจากเหล็กเสริมกัลวาไนซ์

 

          ระบบช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบ แม็คเฟอร์สันสตรัท ปีกนกช็อคอับและสปริงที่ด้านหน้า ถูกพัฒนาให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะส่วนของปีกนก ส่วนด้านหลังเป็นแบบคานแข็งพร้อมแหนบ 5 ชั้น รองรับแชสซี่ที่ผลิตจากเหล็กเสริมกัลวาไนซ์ ซึ่งส่วนนี้ที่ทำให้การบรรทุกมากขึ้นกว่ารุ่นก่อนนั้นเอง อีกทั้งเป็นการรองรับในเรื่องของการต่อเติมตรงบริเวณกระบะ มาพร้อมระบบเสริมความปลอดภัยอย่างเบรก ABS ซึ่งด้านหน้าเป็นดิสก์เบรก ส่วนด้านหลังเป็บแบบดรัมเบรก พร้อมระบบ ป้องกันล้อล็อคในขณะที่มีการเบรก โดยเครื่องยนต์โดยใช้ระบบควบคุมแรงฉุดเครื่องยนต์หรือ Engine Drag Control 

 

Test Drive

          ในช่วงทดลองขับระยะทางสั้นๆ และยังมีโอกาสได้เป็นผู้โดยสาร งานนี้บอกได้เลยว่าห้องโดยสารที่เข้าไปนั่งให้ความรู้สึกถึงการเป็นรถเพื่อใช้งานอย่างแท้จริง ภายในห้องโดยสารโปร่งโล่ง อุปกรณ์ต่างๆ จัดวางแบบเรียบง่าย สะดวกต่อการใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบบกลไกที่ให้ความทนทาน ส่วนเรื่องการขับก็ไม่ยาก มุมมองรอบด้านดูง่ายเพราะกระจกบานหน้ากว้าง กระจกข้างมองเห็นด้านท้ายได้ชัดเจน ส่วนเรื่องของสมรรถนะดีกว่าที่คิดไว้ อัตราเร่งทำได้ค่อนข้างดีแม้ว่าจะมีน้ำหนักบรรทุกที่ท้ายกว่า 100 กิโลกรัม แต่หากต้องการทำความเร็วต้องเค้นจึงจะได้ความเร็วปลาย แต่ก็ไม่จำเป็นหากนำมาใช้งานจริงเพราะเน้นบรรทุกมากกว่า ระบบช่วงล่างค่อนข้างนิ่มออกไปทางย้วย หากต้องต่อเติมกระบะท้ายหรือบรรทุกหนักตามที่โรงงานแจ้งไว้สูงสุด 945 กิโลกรัม ต้องปรับแต่งช่วงล่างกันพอสมคาร อาจจะต้องเปลี่ยนช็อคอับ รวมถึงการเสริมแหนบบรรทุก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะต่อเติมเป็นแบบไหน หรือบรรทุกหนักแค่ไหน แต่โดยรวมแล้วเป็นรถที่ดีเหมาะสมกับราคา

 

 

         สรุปคร่าวๆ จากการทดลองขับไปกลับระหว่าง กรุงเทพมหานครกับ จังหวัด ฉะเชิงเทรา ได้ว่า Suzuki All New Carry เป็นรถที่ค่อนข้างเหมาะสม ที่ถูกคิดและสร้างมาได้ตรงกับจุดประสงค์ คือเน้นเป็นยานพาหนะในการใช้งานมากกว่าที่จะถูกนำไปปรับแต่ง เพราะฉะนั้นแล้วกลุ่มคนที่น่าจะเป็นเป้าหมายก็ตรงตามที่ต้นสังกัดอย่าง Suzuki วางแนวทางไว้ อีกทั้งเรื่องของราคาที่ ซึ่งไม่เหมือนกับรถกระบะยุคใหม่อีกหลายๆ แบรนด์ที่ไม่ได้เน้นในเรื่องแบบนี้เท่าที่ควร ทำให้ผู้ใช้หลงประเด็นจับเอาไปปรับแต่งจนผิดจุดประสงค์ไปมากโข แต่ก็นานาจิตตัง งานนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการล้วนๆ ว่าเอาใช้แบบไหน เราทีมงาน Boxzaracing แค่นำเสนอเรื่องราวของรถ ผลการทดลองขับ รวมถึงแง่มุมต่างๆ ที่น่าจะเป็นประโยนชน์ให้กับคนที่กำลังหาข้อมูลของรถเพื่อตัดสินใจเท่านั้น อีกทั้งยังมีสถาบันทางการเงินให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุน จึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนที่ต้องการมองหาธุรกิจที่เหมาะกับรถ แบบนี้ไม่รู้จะพูดคำไหนแล้ว

 

Suzuki All New Carry ราคาจำหน่าย             385,000 บาท

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook