จากแนวคิดที่ท้าทายการพัฒนายนตรกรรมให้ดียิ่งกว่าของโตโยต้า (Ever-better Cars) ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ “ยานพาหนะ” แห่งความสมบูรณ์แบบ โดยโตโยต้ามุ่งเน้นพัฒนาใน 2 ด้านหลัก ได้แก่ ความประณีตของการออกแบบภายนอก เพื่อดีไซน์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ (Emphasized Personality) และ ความแข็งแกร่งของโครงสร้างภายในที่ทำงานประสานกัน เพื่อการขับขี่ที่เหนือระดับ (Core Strength)
รับฟังบรรยายหลักการทำงาน และโครงสร้างของ TNGA
โดยสถาปัตยกรรมโครงสร้างยานยนต์ใหม่ TNGA ถูกพัฒนา และออกแบบให้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีความแข็งแรงและมีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ ทำให้ตอบสนองต่อการขับขี่ที่ดีเยี่ยม การควบคุมบังคับรถที่แม่นยำ นุ่มนวลทุกสภาพถนน รวมถึงทัศนวิสัยการขับขี่ที่ดีกว่า ตลอดจนรูปลักษณ์ที่สวยงาม ซึ่งโตโยต้าได้นำสถาปัตยกรรมโครงสร้างใหม่นี้มาใช้ใน Toyota C-HR เป็นรุ่นแรก และจะนำมาใช้กับรถยนต์โตโยต้ารุ่นต่อๆ ไปในอนาคต
TNGA กับการออกแบบโครงสร้างใหม่ดังนี้
สถาปัตยกรรมโครงสร้างยานยนต์ใหม่ (TNGA) จะเป็นการยกระดับของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของโตโยต้าเพื่อสร้างความสมบูรณ์แบบทุกการเคลื่อนไหว ผสานกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้แก่ ระบบไฮบริดเจนเนอเรชั่นที่ 4 (4th Generation Hybrid) มาตรฐานความปลอดภัยใหม่ระดับโลกของรถโตโยต้า (Toyota Safety Sense หรือ TSS) และ ระบบที่เชื่อมต่อรถและผู้ใช้รถให้เป็นหนึ่งเดียว (Toyota T-Connect Telematics)
ผลการทดสอบจริงจากสนาม Toyota Driving Experience Park
จุดทดสอบที่ 1 การทดสอบประสิทธิภาพการเลี้ยวในที่แคบ (วงเลี้ยวแคบสุดที่ 5.2 เมตร) และทัศนวิสัยของผู้ขับขี่ (Visibility) ในจุดอับสายตา บริเวณมุมด้านหน้าฝากระโปรง และกระจกมองข้าง กับเสาเอ (A Pillar) ทำให้สามารถเห็นอุปสรรคด้านหน้า และด้านข้างได้อย่างชัดเจน
จุดทดสอบที่ 2 การทดสอบความคล่องตัว (Agility) ผ่านการขับแบบสลาลม (Slalom) และการหักหลบฉุกเฉิน การตอบสนองของพวงมาลัย ร่วมกับโครงสร้างตัวถังที่แข็งแรง ผสานกับช่วงล่างอิสระแบบ Double wishbone ช่วยให้เข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ เกาะถนน และทรงตัวได้อย่างดีเยี่ยม
จุดทดสอบที่ 3 การทดสอบความมั่นคง (Stability) ด้วยการขับในรูปแบบโค้งกว้าง ด้วยจุดศูนย์ถ่วง (Center of Gravity) ที่ต่ำลง ซึ่งมาจากการออกแบบชิ้นส่วนให้ต่ำลง เช่น เครื่องยนต์ และเกียร์ ส่งผลให้ตัวรถนิ่ง มีเสถียรภาพ ไม่เหวี่ยง หรือโคลง แม้เข้าโค้งในความเร็วสูง ทำให้ผู้ขับขี่มีความมั่นใจอย่างเต็มที่
จุดทดสอบที่ 4 การทดสอบความนุ่มนวลในการขับขี่ (Comfort) ผ่านการจำลองสถานการณ์ในการขับขี่ เช่น คอสะพานที่มีความชัน ผิวทางขรุขระ และลูกระนาด ด้วยการออกแบบช่วงล่างอิสระแบบ Double wishbone จึงทำเพิ่มความนุ่มนวลและดูดซับแรงกระแทกจากพื้นถนนกับผู้ขับขี่ได้อย่างดีเยี่ยม