เขียนโดย: Pajingo

เมื่อ: 13 พฤษภาคม 2559 - 16:02

MG GS สมรรถนะระดับผู้นำ กับครอสโอเวอร์ยุคใหม่ ที่ตามใครไม่เป็น

 

          หลังจากที่เปิดตัวไปเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็เชิญชวนคณะสื่อมวลชนเข้าร่วมการทดลองขับยนตรกรรมครอสโอเวอร์รุ่นบุกเบิกตลาดในเมืองไทยภายใต้ชื่อ MG GS ซึ่งถือเป็นรถอีกหนึ่งรุ่นที่ได้กระแสตอบรับจากผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างล้นหลาม ภายใต้ภาพลักษณ์ที่โดดเด่น ผนึกกำลังกับเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เทอร์โบ ที่ให้แรงม้าสูงถึง 218 ตัว กับแรงบิด 350 นิวตัน-เมตร ซึ่งแน่นอนว่าสามารถตอบโจทย์ทุกการใช้งานได้อย่างลงตัว

 

เส้นสายด้านข้าง สื่อถึงความแข็งแกร่ง พร้อมสำหรับทุกเส้นทาง

 

          MG GS เปิดตัวในประเทศไทยทั้งสิ้น 2 รุ่นย่อย คือ 2.0TD ขับเคลื่อนสองล้อ ราคา 1,210,000 บาท และ 2.0TX ขับเคลื่อนแบบ All Wheel Drive ราคา 1,310,000 บาท โดยทั้ง 2 รุ่น ต่างก็มีคุณบัติและออพชั่นเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป โดยสิ่งหลักๆ ที่ได้เพิ่มขึ้นมาในรุ่น 2.0TX ก็คือ ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ, ซันรูฟ, แร็คหลังคา, เบาะผู้โดยสารด้านหน้าปรับไฟฟ้า 4 ทิศทาง, ระบบล้างไฟหน้า รวมไปถึง Paddle Shift ที่สามารถใช้เปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย เมื่อขับเคลื่อนในโหมดสปอร์ต แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ การพัฒนาภายใต้แนวคิด Brit Dynamic เช่นเดียวกับ MG ทุกรุ่น ซึ่งโดดเด่นทั้งในด้านการออกแบบ สมรรถนะ การควบคุม และความปลอดภัย เหนือกว่ารถยนต์รุ่นอื่นๆ ในเซกเมนต์เดียวกัน

 

 

          เส้นทางที่ใช้ในการทดลองขับครั้งนี้ เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมระยะทางไปกลับราว 600 กม. ซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่ BoxzaRacing จะได้สัมผัสสมรรถนะที่แท้จริงของ MG GS ทั้งรุ่นขับเคลื่อนสองล้อ และรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้ออัตโนมัติได้แบบครบรสในเส้นทางที่มีสภาพภูมิประเทศที่หลากหลาย โดยเริ่มทดลองขับที่รุ่นขับเคลื่อนสองล้อกันก่อน

 

แผงหน้าปัดถูกดีไซน์ให้รับกับรูปโฉมภายนอกอย่างลงตัว

 

เบาะนั่งวางในตำแหน่งสูง ช่วยเพิ่มทัศนวิสัยยามขับขี่

 

เหลือเฟือสำหรับพื้นที่ในการบรรทุกสัมภาระ

 

          เมื่อเข้าไปนั่งในรถ สิ่งที่รู้สึกได้ คือ ตำแหน่งเบาะค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นทัศนวิสัยได้อย่างชัดเจน แม้จะมีรูปร่างที่ไม่สูงใหญ่มากนัก ดูแล้วน่าจะเหมาะกับสรีระของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง พวงมาลัยสามารถปรับสูง-ต่ำ และเลื่อนเข้า-ออกเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ต้องการ สัมผัสแรกที่แตะคันเร่งของ MG GS อย่างแผ่วเบา ความรู้สึกแรกแสดงให้เห็นถึงพละกำลังอันเต็มเปี่ยมที่มอบให้จากเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ 2.0 ลิตร พละกำลัง 218 แรงม้า ที่ 5,300 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 350 นิวตัน-เมตร ที่ 2,500 – 4,000 รอบ/นาที จับคู่กับระบบเกียร์อัตโนมัติ TST – Twin Clutch Sportronic Transmission แบบ 6 สปีด ซึ่งทางค่ายเคลมเอาไว้ว่า ให้อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ภายในเวลาเพียง 8.2 วินาที (ในรุ่นขับเคลื่อนสองล้อ) ในการขับขี่ด้วยเกียร์ D ฟีลลิ่งที่ได้ เรียกว่านุ่มนวล ต่อเนื่อง ตอบสนองได้ดีและเพียงพอต่อทุกการใช้งานทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในเมือง ออกต่างจังหวัดหรือวิ่งทางไกล การเร่งแซงสามารถทำได้อย่างเฉียบขาด ไม่ต้องออกแรงลุ้น หรือเอาใจช่วยให้สามารถแซงได้อย่างปลอดภัย ซึ่งหากยังไม่เร้าใจพอ ผู้ขับสามารถผลักคันเกียร์มาอยู่ในตำแหน่ง S เพื่อให้เครื่องยนต์เปิดรอบการทำงานให้สูงขึ้น พร้อมกับเปลี่ยนสีของแผงมาตรวัดให้เป็นสีแดง เพื่อสื่อถึงอารมณ์ความเร้าใจได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

 

ขุมพลัง 2.0 ลิตร เทอร์โบ เร้าใจด้วยกำลัง 218 แรงม้า กับแรงบิด 350 นิวตัน-เมตร

 

          เดินทางมาได้ระยะหนึ่ง เรามีโอกาสได้สัมผัสรูปแบบเส้นทางที่แตกต่างออกไป กับถนนที่เต็มไปด้วยโค้งน้อยใหญ่ให้ได้ลองฟีลลิ่งของช่วงล่าง ซึ่งทางค่ายเซ็ตมาให้ออกแนวเฟิร์ม หนักแน่น มั่นคง โดยไม่รู้สึกว่าแข็งจนเกินไป การขับในย่านความเร็วใช้งาน 100-120 กม./ชม ไม่รู้สึกว่าขาดความมั่นใจ แต่หากความเร็วสูงเกิน 140 กม./ชม. ไปแล้วอาจมีกาการเด้งไปบ้าง (อาการนี้ไม่ปรากฏในรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ อาจเป็นเพราะถนนสภาพเส้นทางที่แตกต่างกันออกไป) การเข้าโค้งถือว่าทำได้ดี ค่อนข้างเฉียบคม มั่นใจ ไม่มีอาการเหวอ โดยรวมแล้วถือว่าสอบผ่านสำหรับรถในสไตล์ครอสโอเวอร์ที่เข้าโค้งได้เร็วไม่ต่างจากรถเก๋งมากนัก ซึ่งคงต้องยกเครดิตให้กับช่วงล่างแบบอิสระแม็คเฟอร์สันสตรัทพร้อมเหล็กกันโคลงที่ด้านหน้า และอิสระมัลติลิงค์พร้อมเหล็กกันโคลในด้านหลัง ที่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ โดยมีระบบความปลอดภัย เช่น ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่อย่างระบบควบคุมการทรงตัว (SCS – Stability Control System) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและควบคุมการลื่นไถล (TCS - Traction Control System) และระบบควบคุมการเบรกขณะเข้าโค้ง (CBC – Curve Brake Control)

 

เข้าโค้งความเร็วสูง ตัวรถยังคงนิ่ง ให้ความมั่นคงสูง

 

 

          สิ่งที่ต้องยอมรับในเรื่องประสิทธิภาพอีกประการหนึ่งใน MG GS คงหนีไม่พ้นระบบเบรกที่ทำงานได้อย่างซื่อตรง ทำให้สามารถชะลอความเร็ว หรือหยุดรถได้อย่างมั่นใจ อันเป็นผลมาจากระบบการป้องกันล้อล็อกขณะเบรกฉุกเฉิน (ABS - Anti-lock Braking System) พร้อมระบบช่วยกระจายแรงเบรก (EBD - Electronic Brake Force Distribution) โดยในขณะที่การจราจรแออัด จะมีตัวช่วยอย่างระบบ (AVH – Auto Vehicle Hold) ซึ่งถือเป็นลูกเล่นอย่างหนึ่งที่โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้สึกปลาบปลื้มกับลูกเล่นนี้มากทีเดียว นอกจากนี้ยังมีตัวช่วยอื่นๆ ไม่ว่าจะป็นระบบทำความสะอาดจานเบรกอัจฉริยะ (BDC - Intelligent Brake Disc Cleaning) ระบบเพิ่มแรงดันไฮดรอลิคเบรกให้เหมาะสม (OHBV – Optimized Hydraulic Brake Servo) ระบบป้องกันการลื่นไถล เมื่อเกียร์ลดต่ำอย่างฉับพลัน (MSR – Motor Control Slide Retainer) ระบบเสริมแรงเบรกด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (EBA – Electronic Brake Assist System) ตลอดจนระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน (HAS – Hill-Start Assist) ระบบตรวจสอบความผิดปกติของลมยาง (TPMS – Tire Pressure Monitor System) และระบบเบรกมือไฟฟ้า (EPB – Electronic Parking Brake) ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้ระบบหนึ่งเดียวคือ SYNCHRONIZED PROTECTION SYSTEM 13 ผู้ขับขี่สามารถอุ่นใจได้ด้วยโครงสร้างตัวถังนิรภัย แข็งแกร่งด้วยเทคโนโลยี FSF - Full Space Frame ป้องกันผู้ขับขี่และผู้โดยสารทุกที่นั่งด้วยถุงลมคู่หน้าและด้านข้าง

 

เบรคมือไฟฟ้า, Auto Vehicle Hold และปุ่มเลือกขับเคลื่อนสี่ล้อ มีมาให้ครบ

 

          หลังจากที่ได้ทดลองขับในรุ่น 2.0TD กันอย่างจุใจแล้ว BoxzaRacing ก็เปลี่ยนมาทดลองขับในรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้ออัตโนมัติกันบ้าง โดยความพิเศษของระบบขับเคลื่อนในรุ่นนี้ คือ การสามารถปรับการส่งถ่ายกำลังไปยังล้อขับเคลื่อนทั้งสี่ได้อย่างเหมาะสมด้วยระบบไฟฟ้าที่ประมวลผลจากเซ็นเซอร์ของระบบ ABS โดยสามารถกระจายแรงขับเคลื่อนหน้า-หลังได้สูงสุดถึง 50 : 50 และผู้ขับขี่ยังสามารถปรับให้เป็นระบบขับเคลื่อนสี่ล้อได้เองด้วยปุ่มที่อยู่ด้านข้างคันเกียร์ ซึ่งหากวิ่งด้วยความเร็วเกิน 60 กม./ชม. ระบบการทำงานจะตัดเข้าสู่การขับเคลื่อนด้วยสองล้อหน้าโดยอัตโนมัติ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับระบบส่งกำลัง ฟีลลิ่งที่ได้มาในแนวทางที่ไม่ต่างจากรุ่นขับเคลื่อนสองล้อมากนัก แม้ว่าจะมีน้ำหนักที่มากกว่า แต่ช่วงล่างก็ได้รับการปรับแต่งมาอย่างเหมาะสม สิ่งที่รู้สึกว่าเหนือกว่าก็คือ ความนิ่งในการวิ่งที่ย่านความเร็วสุงกว่า 140 กม./ชม. ที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น และเพิ่มความเร้าใจในการขับขี่ด้วย Paddle Shift ที่ต้องผลักคันเกียร์มาอยู่ในตำแหน่ง S ก่อน จึงจะสามารถใช้งานได้

 

ทางฝุ่นลุยได้แบบไร้ปัญหาด้วยระบบขับเคลื่อนสี่ล้ออัจฉริยะ

 

 

          ในภาพรวมแล้ว MG GS ทั้งรุ่น 2.0TD และรุ่น 2.0TX AWD ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับคนที่ชื่นชอบยนตรกรรมสไตล์ครอสโอเวอร์สมรรถนะโดดเด่น และพร้อมมอบขีดสุดแห่งความเร้าใจในชนิดที่ไม่สามารถหาได้จากรถในคลาสเดียวกัน แต่ก็อาจจะต้องแลกมาด้วยอัตราการสิ้นเปลืองที่ดุกว่าเล็กน้อย (11.x กม./ลิตร ในรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ และ 10.x กม./ลิตร ในรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ) แต่สำหรับคนที่ชื่นชอบความเร้าใจ กระฉับกระเฉง ถือว่าตอบโจทยืได้ไม่เลวเลยทีเดียว ซึ่งนอกจากจะแรงแล้ว ยังมาพร้อมกับช่วงล่างสุดเฟิร์มที่พร้อมฟันฝ่าทุกความท้าทายให้กลายเป็นประสบการณ์สุดประทับใจภายใต้คอนเซ็ปท์ “ครอสโอเวอร์ยุคใหม่ ที่ตามใครไม่เป็น

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook