รถแข่ง F1 ที่ซิ่งบนสนามทางเรียบความเร็วสูง มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้รถสามารถวิ่งได้เร็ว แหวกอากาศได้ดี มีแรงกดมาก เกาะถนนขึ้น เน้นในสมรรถนะของรถเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ค่อยมีการพัฒนาเรื่องความปลอดภัยของโครงสร้างอย่างชัดเจนเท่าไหร่นัก ซึ่งการใส่ใจความปลอดภัยหลักๆ ที่มีมาแล้วก็แค่เรื่องการกันไฟไหม้ การใช้โครงสร้างที่ลดส่วนแหลมคม กับล้อรถที่มีสลิงยึดให้หลุดออกยากขึ้น แต่ไม่เคยมีสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยปกป้องในค็อกพิทมาก่อนเลย เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา หลายชิ้นส่วนเล็กใหญ่ก็ปลิวเข้าหมวกกันน็อคทันที ซึ่งถ้าชิ้นเล็กๆก็พอกันได้ แต่ถ้าชิ้นใหญ่ๆหนักๆ พุ่งมาด้วยความเร็วสูง ต่อให้หมวกดีแค่ไหนก็คงทำให้นักแข่งบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตได้เช่นกัน ซึ่งตัวอย่างก็มีมากมายหลายเคสจนร่ายไม่หมด
จากอุบัติเหตุมาหลายครั้งในสมัยก่อน จึงเกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ชื่อว่า F1 Halo เป็นโครงสร้างแบบสามขาทรงคล้ายสปอยเลอร์ ทำหน้าที่เหมือนโรลบาร์ในรถแข่งบ้านๆ ทั่วไป ติดตั้งครอบรอบๆ ห้องขับนักแข่ง หลังจากการคิดค้นและทดลองวัสดุหลากหลายแบบมาก่อนแล้ว จึงได้ข้อสรุปว่าให้ใช้โครงสร้างแกนในทำจากไทเทเนียม หุ้มด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ทับอีกที และถูกทดสอบจริงในสนามครั้งแรกในปี 2016 และยังมีการปรับปรุงรูปทรงและความหนาอีกเล็กน้อย จนได้ใช้เป็นมาตรฐานในฤดูกาลแข่งปี 2018 นี่เอง
เมื่อเริ่มใช้งานโครง Halo นี้ใหม่ๆ ในปี 2017 มีหลายทีมและนักแข่งไม่ชอบมัน เพราะบดบังทัศวิสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวหน้าทีมเมอร์ซิเดสเบนซ์ Toto Wolff ที่ออกตัวแรงสุด โดยกล่าวว่า "มันเกะกะสายตา แถมทำให้นักแข่งเข้าออกลำบาก น่าจะมีวิธีปกป้องนักแข่งที่ดีกว่านี้" สนับสนุนด้วยความเห็นของทีม Red Bull ก็ได้ออกมายืนยันแล้วว่า พวกเขานั้นจะไม่ลงเสียงสนับสนุนในการใช้ Halo ในครั้งนี้ ทางด้าน Mark Webber ก็ยังรู้สึกก้ำกึ่งในตอนนั้น แต่นักแข่งหลายๆ คนเริ่มค่อยๆ ปรับตัวได้แล้ว อย่างเช่น Daniel Ricciardo ที่ปรับตัวได้แล้วกล่าวว่า "Halo ไม่ได้บดบังทัศนวิสัยในการมองสัญญาณไฟออกตัว" แต่ในฤดูกาล 2018 ได้มีเหตุการณ์ล่าสุดสดๆ ร้อนๆ ที่จะเปลี่ยนความคิดของหลายคนเกี่ยวกับ Halo ไปเลย
ล่าสุดในสนามแข่ง Belgium Grand prix 2018 มีอุบัติเหตุที่เกิดจาก Nico Hulkenberg เบรคช้าเกินไป ทำให้ชนท้ายรถ Fernando Alonso แล้วงัดรถขึ้น ส่งผลให้รถอะลอนโซ่ลอยไปโดนกับรถของ Charles Leclerc ที่ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องการชนอะไรกับเขาเลย แค่โดนลูกหลงเป็นรถแข่งทั้งคันหนักกว่า 700 กก. พุ่งเข้ามา ใส่หัวของ Leclerc เต็มๆ แถมด้วยล้อยางน้ำหนัก 20 กก. ปลิวกระแทกใส่ซ้ำท้ายด้วย ซึ่งถ้าไม่ได้เจ้าโครง Halo นี้ช่วยไว้ เขาคงจะเจ็บหนักหรือตายแน่ๆ แต่นี่หลังจากเกิดเหตุ Leclerc สามารถลุกออกจากรถได้อย่างสบายๆ
เมื่อสำรวจรถแข่งหลังจากเกิดเหตุแล้วพบว่า โครงสร้าง Halo นี้ รับแรงกระแทกมากจนคาร์บอนไฟเบอร์ที่ว่าเหนียวๆ ยังต้องแตกร้าว จึงเป็นที่ยอมรับเลยว่า Halo นี้ดีจริง ถ้าแรงชนมหาศาลขนาดนี้เข้าสู่หัวนักแข่งตรงๆ หมวกกันน็อคก็เอาไม่อยู่ เผลอๆ อาจจะเสียชีวิตแน่ๆ ซึ่งแม้แต่ผู้ที่เคยต่อต้านสิ่งประดิษฐ์นี้อย่าง Toto Wolff ที่เคยออกตัวแรงเอาไว้ ก็ต้องออกมายอมรับว่าของเขาดีจริง นอกจากนี้ยังมีสถิติบันทึกไว้ว่า ตั้งแต่เริ่มใช้ Halo นี้ มีอุบัติเหตุจำนวน 15 ครั้ง จากทั้งหมด 17 ครั้ง ที่สิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้ ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ ดังนั้นเราจะได้เห็นโครง Halo นี้เป็นมาตรฐานต่อไป ทำให้ฤดูกาล 2018 เป็นอีกจุดเปลี่ยนของรถแข่ง F1 อย่างมากเลยทีเดียว
CR : independent, espn, motorsport