ขับรถควรรู้ เปลี่ยนท่อ ท่อดัง ท่อไม่มี มอก. แท้จริงแล้วผิดกฎหมายหรือไม่
และกฎหมาย ม.44 คืออะไร? มาดู
ท่อไม่มี มอก. แท้จริงผิดกฎหมายหรือไม่?
เรียกได้ว่าได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งประเด็นสุดร้อนแรงของวงการขาซิ่ง ที่ไม่ว่าจะเป็นชาวไบค์เกอร์ หรือชาวรถซิ่งทั้งหลาย กับเรื่องความดังของท่อ ที่มีการถกเถียงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ว่าแท้จริงแล้วนั้น ท่อแต่ง ท่อเสียงดัง และท่อที่ไม่มี มอก. หากมันมาอยู่กับรถคู่ใจของเราแล้ว มันจะผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่ง เกร็ดความรู้ของ BoxzaRacing ในวันนี้ก็จะพาเพื่อนๆ มาไขข้อสงสัยทั้งหลายทั้งปวงนี้ ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นอย่างไรกันแน่ อย่ารอช้า ตามมาดูกันเลยดีกว่าครับ
ท่อดังผิดกฎหมายหรือไม่?
- มาเริ่มที่คำถามแรกกันก่อนเลย กับข้อสงสัยที่ว่า ท่อเสียงดัง ผิดกฎหมายหรือไม่?
ข้อนี้สามารถตอบได้อย่างง่ายดายเลยว่า ถ้าเสียงที่ออกมาจากท่อรถของเรานั้น สามารถวัดได้ไม่เกิน 95 เดซิเบล ไม่ถือว่าผิดนะครับ ทั้งนี้ก็ต้องมีเครื่องมือการวัดเสียงที่เป็นมาตรฐานจากทางเจ้าหน้าที่
ท่อ Yoshimura ส่วนใหญ่จะมี มอก.
- คำถามที่สอง ท่อรถที่ไม่มี มอก. (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) ผิดกฎหมายหรือไม่?
หลายๆ คนยังคงข้องใจกับคำถามนี้ เพราะว่าได้มีการถกเถียงกันในกลุ่มเพื่อนฝูงกันบ่อยๆ ใช่มั้ยล่ะครับ ซึ่งคำตอบของมันก็คือ ไม่ผิดครับ เพราะยังไม่มีกฎหมายมาตราไหนที่ระบุว่าคนขับรถนั้นๆ จะต้องมีท่อที่ได้รับมาตรฐานจาก มอก. แต่กฏหมายข้อนี้จะขึ้นไปเกี่ยวข้องกับทางด้านผู้ผลิตโดยตรง เพราะว่าผู้ผลิตสินค้าต่างหาก ที่จะต้องใช้สินค้าที่ได้รับการตรวจสอบ และมี มอก. รองรับ เพราะฉะนั้นแล้วผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็คงจะสบายใจได้ แต่ทั้งนี้หากเราใช้ท่อที่มี มอก. ก็คงจะดีกว่าอยู่แล้ว ใช่ไหมล่ะครับ
ท่อสูตร ท่อแต่ง ผิดหรือไม่?
- คำถามต่อไป เป็นเรื่องที่ชาวขาซิ่งตัวจริงนั้นสงสัยกันมากมาย ท่อสูตร หรือท่อแต่ง ผิดกฎหมายหรือไม่?
ตอบได้เลยว่า ไม่ผิดครับ เพราะในตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายข้อไหนที่ระบุว่าผู้ใช้รถนั้นๆ ห้ามเปลี่ยนท่อ
ตำรวจจับในข้อหาดัดแปลงสภาพรถได้หรือไม่?
- คำถามที่ 4 ข้อนี้อาจจะถูกใจใครหลายๆ คน เพราะว่าคงเคยเจอกันมาบ้างแล้ว นั่นก็คือ หากเราโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจจับในข้อหาดัดแปลงสภาพรถ (โดยที่บอกว่าการดัดแปลงนั้นๆ คือท่อ) เราผิดจริงหรือไม่?
ในข้อนี้เราสามารถสอบถามได้เลยนะครับว่า ดัดแปลงส่วนไหน? (พูดจาให้ไพเราะหน่อยก็แล้วกัน) เพราะว่าในกฎหมายมาตรา 14 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถ ให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้และใช้รถนั้น อ่านให้ละเอียดแล้วเพื่อนๆ จะเห็นประโยคที่ว่า “ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้และใช้รถนั้น” ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าในเอกสารที่จดทะเบียนนั้น ไม่ได้มีระบุว่าเราจะต้องใช้ท่อไอเสียแบบไหน รวมไปถึงการตกแต่งในส่วนอื่นๆ ก็เช่นกัน ตราบใดที่การตกแต่งนั้นยังอยู่ภายใต้รายละเอียดที่ระบุไว้ในเอกสาร
ห้ามดังเกิน 95 เดซิเบล
- เรามาดูในคำถามถัดไป กับเรื่องที่เราอาจจะผิดจริง นั่นก็คือ ท่อของเราส่งเสียงดังเกิน 95 เดซิเบล จะมีโทษอย่างไร?
ในข้อนี้นั้นขาซิ่งอย่างเราๆ คงต้องยอมรับโทษไปแต่โดยดี ซึ่งมีโทษปรับสูงสุด 1,000 บาทขอย้ำว่าไม่เกิน 1,000 บาท และเจ้าหน้าที่ต้องออกใบเตือนให้ไปเปลี่ยนท่อ โดยเจ้าหน้าที่ "ไม่มีสิทธิ์ยึดท่อ" ไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น มิฉะนั้นจะถือว่าจะเป็นการทำเกินกว่าเหตุนะครับ ซึ่งเราสามารถฟ้องร้องเอาผิดทางวินัยได้ครับ
ป้ายคัดค้าน ม.44 อันโด่งดัง
แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีกฎหมายในมาตรา 44 ที่เรียกได้ว่าทำเอาขาซิ่งทั้งหลายปวดหัวกันไปเป็นแถบๆ ซึ่งมาตรานี้ก็ได้ออกมาควบคุมการละเมิดต่างๆ ในหลายๆ ส่วน และในส่วนของรถซิ่งนั้นก็คือ
- ข้อที่ 1 ห้ามรวมกลุ่มหรือมั่วสุมในลักษณะที่น่าจะนำไปสู่การแข่งรถในทางอันเป็นความผิดซึ่งต้องรับโทษตามกฎหมาย หากมีให้เจ้าหน้าที่เข้าระงับยับยั้งตามที่เห็นสมควร เช่น การนำรถที่สงสัยว่าจะใช้แข่งขันมาเก็บรักษาไว้ชั่วคราวจนกว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะสิ้นสุดลง
- ข้อที่ 2 พ่อแม่ผู้ปกครองต้องยับยั้ง พฤติกรรมที่ไม่ดี ไม่สนับสนุนหรือปล่อยปละละเลยให้เยาวชนรวมกลุ่มหรือมั่วสุมเพื่อการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หากมีการกระทำผิดให้ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย นอกจากนี้ยังให้แจ้งการกระทำของเด็กในปกครองให้ผู้ปกครองทราบ เพื่อป้องกันตักเตือน หรืออาจให้วางประกันตามสมควรแต่ไม่เกิน 2 ปี และหากมีการกระทำผิดซ้ำอีก ให้ผู้ปกครองต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ริบเงินประกันเป็นของกองทุนคุ้มครองเด็ก
- ข้อที่ 3 ผู้ใดผลิตครอบครอง จำหน่าย ประกอบ ดัดแปลง หรือเปลี่ยนแปลงสภาพรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ หากการกระทำเชื่อได้ว่าเป็นการยุยง ส่งเสริมให้กระทำผิดตามคำสั่งนี้ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำในลักษณะเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นผู้ประกอบการที่เข้าข่ายกรณีดังกล่าวให้สั่งผิดหรือเพิกถอนใบอนุญาตทันที
- ข้อที่ 7 ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับ การแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางและการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการ ในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการเพิกเฉยหรือละเลยไม่กระทำการหรือปล่อยปละละเลย ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ผู้นั้นอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว ส่วนในกรณีที่หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย ไม่ดําเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้นํามาตรการที่กำหนดไว้ในคำสั่ง คสช. ที่ 69/2557 เรื่อง มาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2557 มาใช้บังคับ
- ข้อที่ 8 ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทางปกครอง หรือกระบวนการยุติธรรม ดำเนินการหรือดำเนินคดีกับความผิดที่เกี่ยวกับการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ในทางและการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ตามที่มีกฎหมายบัญญัติความผิดไว้หรือตามคำสั่งนี้
- ข้อที่ 9 ให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวกับการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ในทางและการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ กวดขันและเร่งรัดจัดทำมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการจัดระเบียบ และลดปัญหาสังคมโดยเร่งด่วน
- ข้อที่ 10 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ไบค์เกอร์ที่ดีต้องเคารพกฎหมายนะครับ
ทีนี้ก็รู้แล้วใช่มั้ยครับเพื่อนๆ ว่าหากเราทำถูกต้องตามที่กฎหมายระบุไว้อย่างเคร่งครัด เราก็จะไม่โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเขียนใบสั่งให้แก่เราได้ ซึ่งคิดว่าทุกคนคงไม่อยากจะพบเจอกันอย่างแน่นอน และสำหรับในช่วงเกร็ดความรู้จาก BoxzaRacing ของเราในวันนี้ คงต้องขอตัวลาไปก่อน พบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีครับ