การทำงานของระบบ Commonrail อาศัยปั้มแรงดันสูง ในการอัดน้ำมันเข้าสู่รางร่วม เพื่อรอจังหวะการฉีดที่เหมาะสม จากการประมวลผลของกล่องอีซียูของรถยนต์ เมื่อถึงจังหวะการฉีดเชื้อเพลิงที่ อีซียูประมวลผลออกมาได้ วาลว์น้ำมันในหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์จะถูกยกด้วยแรงขับจาก โซลีนอยด์ไฟฟ้า ก่อนฉีดน้ำมันที่เป็นละอองฝอยละเอียด เข้าสู่ห้องเผาไหม้โดยตรง ซึ่งปั้มแรงดันสูง หรือ ปั้มคอมมอนเรล จะทำงานตามรอบเครื่อง คือ ปั้มหมุนตามรอบเครื่อง นั่นเอง
ซึ่งเครื่องยนต์ Commanrail ของแต่ละแบรนด์ ปั้มคอมมอนเรลก็จะทำงานแตกต่างกันออกไป เช่น เครื่องคอมมอนเรลของอีซูซุ ปั้มจะหมุนตามรอบเครื่องยนต์โดยอัตราทดเป็น 1:1 แต่ถ้าเป็นปั้มคอมมอนเรลของโตโยต้าที่เป็นเครื่องรหัส GD ปั้มก็จะหมุนตามรอบเครื่องยนต์อัตราทด 1:1 เช่นกัน ส่วนเครื่อง KD ปั้มคอมมอนเรลจะหมุนแตกต่างกับเครื่องตัวอื่น คือ เครื่องยนต์หมุน 1 รอบ ปั้มก็จะหมุนเพียงครึ่งรอบ เท่ากับว่าถ้าต้องการให้ปั้มคอมมอนเรลหมุน 1 รอบเครื่องยนต์ต้องหมุน 2 รอบ อัตราทดของเครื่องกับปั้มตัวนี้ ก็จะเป็น 2 : 1 นั่นเอง ซึ่งในจุดนี้ ถ้าเครื่องยนต์ของคุณใช้หัวฉีดเดิม เทอร์โบเดิม การทำงานของปั้มกับเครื่องยนต์ ก็ดูจะพอเพียงกับแรงดันน้ำมันที่มีอยู่ประมาณ 3.x โวลต์ ซึ่งเพียงพอกับการใช้งานของเครื่องยนต์ที่มีหัวฉีดเดิมและเทอร์โบเดิม
แต่ถ้าเครื่องยนต์ของคุณเป็นเครื่องรหัส KD ที่มีการโมดิฟายใหม่ เปลี่ยนหัวฉีดให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม เปลี่ยนเทอร์โบใหม่เข้าไป แต่ไม่ได้ทำการโมดิฟายปั้มคอมมอนเรลเปลี่ยนอัตราทดใหม่ แรงดันน้ำมันก็จะไม่พอใช้ เนื่องจากหัวฉีดที่ใหญ่ขึ้น ย่อมต้องอัตราการฉีดน้ำมันก็ต้องมากขึ้นตามไปด้วย ถ้าเทอร์โบใหญ่ขึ้น อากาศก็จะเข้าสู่ระบบเผาไหม้เร็วและมากขึ้น ดังนั้นน้ำมันก็ต้องเข้าสู่ระบบเผาไหม้มากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน แต่ถ้าปั้มคอมมอนเรลเดิมที่ติดมากับรถที่หมุนอัตราทด 2 : 1 มีแรงดันน้ำมันอยู่ที่ประมาณ 3.x โวลท์ เท่านั้น ซึ่งการที่เปลี่ยนหัวฉีดใหม่ใหญ่กว่าเดิม เทอร์โบลูกใหญ่กว่าเดิม แรงดันน้ำมันควรจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 4.x โวลท์ ถ้ายังใช้ปั้มเดิมอยู่ที่มีแรงดันน้ำมันอยู่ที่ 3.x โวลท์ ซึ่งไม่พอเพียงกับหัวฉีดใหญ่ที่เปลี่ยนมาใหม่ ทำให้แรงม้าไม่ขึ้น ทอร์คไม่มี หรือเรียกกันง่ายๆ ว่ารถไม่เดินนั่นเอง
ปั้มโยง จึงช่วยแก้ปัญหาเรื่องของแรงดันน้ำมันไม่พอ ซึ่งการทำงานของปั้มโยง คือ เข้าไปปรับอัตราทดของปั้มคอมมอนเรลใหม่ให้เป็นอัตราทด 1:1 กับเครื่องยนต์ ซึ่งเหมาะกับเครื่องยนต์ KD ท้ายรางธรรมดาเป็นอย่างมาก เพราะเครื่องตัวนี้ปั้มจะหมุน 2:1 เท่านั้น พอติดตั้งปั้มโยงเข้าไปแรงดันน้ำมันก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.x โวลท์ เลยทีเดียว เท่านี้ก็สามารถแก้ปัญหาแรงดันน้ำมันไม่พอสำหรับเครื่อง KD ท้ายรางธรรมดา ที่เปลี่ยนหัวฉีดมาใหม่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม เปลี่ยนเทอร์โบใหม่ใหญ่ขึ้น มีคำถามต่อว่าแล้วถ้าเครื่อง KD ที่เป็นท้ายรางไฟฟ้า จะเปลี่ยนหัวฉีดโต เทอร์โบใหญ่ เราใช้ปั้มโยงที่มีอัตราทด 1:1 ได้หรือไม่ ? คำตอบมีเลยครับ ว่าไม่ได้ เนื่องจากเครื่อง KD รุ่นที่เป็นท้ายรางไฟฟ้า กล่องหลักที่มากับรถยนต์ถูกเขียนโปรแกรมน้ำมันมาดี มีการชดเชยแรงดันน้ำมันให้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว ถ้าใส่ปั้มโยงที่มีอัตราทด 1:1 เข้าไป ในตัวท้ายรางไฟฟ้า ในรถบางคันในบางรุ่นจะขึ้นโค้ด 0087 ขึ้นมา โค้ดนี้จะขึ้นเตือนเกี่ยวกับแรงดันน้ำมันมีความเปลี่ยนแปลง เครื่องยนต์จะเข้าสู่ Safe Mode ทันที รถจะวิ่งไม่ออก รถเร่งไม่ขึ้น เพราะกล่องหลักของท้ายรางไฟฟ้า จะมีการสั่งชดเชยน้ำมันไว้แล้ว ดังนั้นถ้าเครื่อง KD ที่เป็นท้ายรางไฟฟ้า ปั้มโยงที่มีอัตราทด 1:1 จึงใช้ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนมาเป็นปั้มโยงที่มีอัตราทด 1:0.7 ซึ่งเป็นค่าที่พอดีกับเครื่องยนต์ KD ท้ายรางไฟฟ้าที่เปลี่ยนหัวฉีดมาใหม่ใหญ่กว่าเดิม
และนี่คือ คำตอบที่ว่า ปั้มโยง สำหรับเครื่อง KD ช่วยแก้ปัญหาเรื่องแรงดันน้ำมันของหัวฉีดโตได้จริงไหม ขอบคุณข้อมูลความรู้ดีๆ จาก ช่างแจ็ค บางหญ้าแพรก