เขียนโดย: Mr Argus

เมื่อ: 6 มีนาคม 2562 - 11:26

รถแข่ง Formula 1 ล้วงลึกเบื้องหลังการทดสอบรถ กว่าจะได้มาซิ่งในสนาม ต้องทำยังไงบ้าง

 

          Formula 1 รายการรถแข่งระดับโลกประจำปี 2019 งานซิ่งรถแบบล้อเปิด ซึ่งไม่เหมือนรถแข่งแบบอื่นที่โมดิฟายมาจากรถถนน รถที่สร้างใหม่ทรงแปลกทั้งคันแบบนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ไปดูกันว่าเขาทดสอบรถกันอย่างไรบ้าง กว่าจะออกมาขยี้คันเร่งให้เราดูกันอย่างนี้

          ท้าวความกันถึงที่มารถล้อเปิดกันก่อน รถประเภทนี้มีแข่งล้อเปิดตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม เป็นการแข่งแบบเน้นประชันกันด้านสมรรถนะอย่างแท้จริง ไม่เน้นความสวยงามของตัวรถ ทุกชิ้นส่วนออกแบบเพื่อให้รถแหวกอากาศได้ดีสุดๆ ซึ่งแต่ละค่ายก็จะมีสูตรแตกต่างกันไปเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในกฎการแข่งอยู่ดี โดยก่อนการแข่งแต่ละปี ก็จะมีการทดสอบรถของแต่ละทีม ซึ่งเป็นจุดหัวเลี้ยวต่อที่สำคัญ ว่ารถที่อุตส่าห์พัฒนากันมา จะใช้งานได้ดีในสภาพจริงหรือไม่ ดังนั้นเบื้องหลังการทดสอบรถแข่ง F1 นี้ จึงไม่ธรรมดา มันเต็มไปด้วยสารพัดข้อกำหนด และยังต้องมีเครื่องมือพิเศษมากมาย ไปดูเบื้องหลังกันดีกว่าครับ

 

 

ข้อกำหนดสารพัด

          การทดสอบนั้นกำหนดให้ใช้สนามที่บาเซโลน่า ประเทศสเปน เพราะมีความประหยัดต้นทุน และจัดการเรื่องขนส่งรถยนต์ได้ง่าย (ส่วนใหญ่ทีมแข่งอยู่ในยุโรป) มีการจำกัดให้มีวันทดสอบรถเพียง 8 วัน และจำกัดรถเพียง 1 คัน โดยทุกทีมต้องมาทดสอบร่วมกันที่สนามแข่งเดียวกัน ที่กำหนดเปิดในเวลา 9.00 น. และปิดในเวลา 18.00 น. ให้แต่ละทีมซิ่งรถไม่จำกัดจำนวนในเวลาดังกล่าว แต่มีล้อรถให้แค่ 110 ชุดเท่านั้น ตลอดการแข่งขัน หากทดสอบแบบขยี้จนยางป่นปี้ อาจจะไม่เหลือพอไว้ให้แข่งก็ได้ ซึ่งข้อจำกัดทั้งหมดนี้ มีขึ้นเพื่อให้ทีมเล็กๆ ทุนต่ำ สามารถทดสอบและพัฒนารถได้สูสีกับทีมใหญ่ๆ ได้นั่นเอง

 

 

ทดสอบ F1 ด้วยเครื่องมือสุดแปลก

          การทดสอบวิ่งจริง ก็ต้องมีการเก็บข้อมูลในอุปกรณ์จริง แต่เครื่องมือที่ใช้ทดสอบรถนั้น ไม่เหมือนรถบ้านที่ทดสอบทั่วไป โดยรถแข่ง F1 เน้นประสิทธิภาพการไหลของอากาศอย่างหนัก ด้วยการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Flow-Vis คือ น้ำมันความหนืดน้อย ผสมสีสะท้อนแสง แล้วทาบนพื้นผิวตัวถังรถ เพื่อเวลาวิ่งแล้ว จะถูกลมพัดเห็นเป็นเส้นสาย แสดงทิศทางการไหลของลมบนพื้นผิว สมกับชื่อ Flow Visualisation

 

 

          อีกหนึ่งอุปกรณ์วัดผลที่สำคัญคือ Air Rake ลักษณะเป็นโครงเหล็กต่อกันเป็นตารางสี่เหลี่ยม ที่ติดตั้งท่อวัดแรงลมไว้มากมาย ประกอบขึ้นเป็นอุปกรณ์ขนาดเขื่องๆ วางขวางลำตัวรถ เพื่อรับแรงลมปะทะเข้ามา แล้วนำค่าแรงลมที่วัดได้ คำนวนออกมาเป็นทิศทางการไหลของอากาศที่ออกจากสปอยเลอร์และล้อหน้า

 

 

เรื่องไม่คาดฝันระหว่างการทดสอบ F1

          การทดสอบจำกัดเพียงแค่ 8 วัน ใน 1 สนาม เพื่อควบคุมต้นทุนให้เท่าเทียมกัน ซึ่งทุกทีมที่เบียดเสียดมาวิ่งทดสอบ ก็มีสารพัดเรื่องที่วุ่นวายให้ทีมงานแก้ปัญหา ตั้งแต่การเริ่มนำรถเข้าสนาม ก็ต้องมีผ้าคลุมปิดมิดชิด เพื่อเก็บความลับของลักษณะตัวรถที่แต่ละทีมซ่อนไว้

         ระหว่างการแข่งก็มีปัญหาตรงที่ นักแข่งจริงควรบินมาขับด้วยตัวเองในเวลากะชั้นชิด แม้ว่าจะไม่มีข้อบังคับให้นักแข่งมาขับด้วยตัวเอง แต่เพื่อให้พวกเขาได้ทำความคุ้นเคย และเก็บข้อมูลการขับแบบสมจริงที่สุดนั่นเอง แต่หากไม่ได้มาด้วยตัวเอง ก็จะมีนักขับระดับสากล A ทำการทดสอบ โดยจะมีไฟเขียวสว่างที่ท้ายรถ บ่งบอกว่าเป็นนักทดสอบรถแข่ง หากไม่มีไฟบอกแสดงว่าเป็นนักแข่งจริงเกรด FIA มาขับด้วยตัวเอง

 

 

          ระหว่างการทดสอบก็มีอุปสรรคอีก ทั้งสภาพอากาศไม่เป็นใจ และการเกิดอุบัติเหตุ ที่ทำให้การเทสต์ล่าช้าไปอีก โดยเมื่อมีอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ทีมแข่งก็ต้องสั่งอะไหล่ให้บินมายังสนามแข่งทันทีในวันรุ่งขึ้น แถมหลังจากการทดสอบแล้ว ยังมีตัวแปรอีกมากมายที่คาดไม่ถึงเมื่อแข่งจริง ทำให้บางครั้งรถที่ทำเวลาดีๆ ในการแข่ง กลับไม่ติดโพเดียมก็มี ถึงแม้อันดับในการขับทดสอบอาจจะไม่ได้การันตีตำแหน่งในโพเดียม แต่ก็มีความจำเป็นต้องมีการทดสอบรถแข่งอยู่ดี เพื่อให้รู้ถึงปัญหาต่างๆ ก่อนแข่ง เป็นเหมือนการซ้อมใหญ่

 

 

          Formula 1 ฤดูกาล 2019 กว่าจะได้ลงแข่งจริงนั้น นอกจากจะมีการทดสอบที่เข้มข้นแล้ว ต้องมีข้อกำหนดทั้งตัวรถ คนขับ และอุปกรณ์ที่ใช้ต่างๆ เพื่อให้รีดเค้นประสิทธิภาพทีมงานออกมาให้มากที่สุด ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามในการแข่งจริง ซึ่งมีทั้งหมด 21 สนาม ตลอดปี เริ่มต้นที่สนามแรกกับ Australian GP วันที่ 14 มีนาคม 2562 หากใครไม่สะดวกบินไปนั่งชมสดๆ ก็ติดตามได้ที่ Formula1.com

 

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook