ฉายารถ คือชื่อเล่นที่รู้กันในวงการรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ เอาไว้เจาะจงให้รถรุ่นใดรุ่นหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งรถรุ่นยอดนิยม หรือรถที่มีชื่อรุ่นซ้ำกันหลายโฉม มักจะถูกตั้งฉายาให้ต่างกันออกไป ไม่ใช่ได้มาจากชื่อสร้อยที่ตั้งมาจากบริษัทผู้ผลิต เช่น ไฮทอร์ค, รีโว่, ซีเดีย แต่มาจากการที่ผู้ชอบรถทั่วไปหยิบเอาเอกลักษณ์ประจำตัว หรือรูปทรงของรุ่นนั้นๆ บวกกับจินตนาการของคนทั่วไป แล้วเกิดเป็นคำศัพท์ใช้เรียกต่อกันมาอย่างแพร่หลาย เช่น เตารีด, ท้ายโด่ง, โลงจำปา ซึ่งฉายารถต่างๆ ของรถยอดนิยมมีดังต่อไปนี้
อีกหนึ่งรุ่นของโคโรลล่า ที่ได้รับความนิยมมากในยุคนั้น ซึ่งเปิดตัวในปี 1988 พลิกโฉมจากทรงเหลี่ยมสัน มาเป็นทรงโค้งมนเป็นครั้งแรก พอดีกับกระแสการ์ตูนโดเรม่อนสมัยนั้นกำลังได้รับความนิยมด้วย จึงมีคนจินตนาการรถทรงโค้งมนรุ่นนี้ เข้ากับหุ่นยนต์แมวตัวกลม ที่ฮิตในยุคเดียวกัน อีกทั้งรถยนต์รุ่นนี้ยังมีออพชั่นเพียบพร้อมกว่าคู่แข่งมากมาย ช่วยอำนวยความสะดวกราวกับของวิเศษจากโดเรม่อนเลยทีเดียว
เป็นรุ่นแรกที่เปลี่ยนโลโก้โตโยต้าหน้ารถ จากเดิมเป็นคำว่า Toyota มาเป็นแบบวงกลม 3 วงซ้อนกัน โดยในสมัยนั้นถือว่าเป็นของแปลกใหม่มาก ทำให้คนจำได้ ถึงแม้ว่าโลโก้สามห่วงนี้ก็ยังมีใช้มาถึงปัจจุบัน แต่เจ้า AE100 เป็นรถรุ่นเดียวที่ได้ฉายานี้
รถโคโรลล่ารุ่นต่อจากโฉมสามห่วง เป็นอีกรุ่นที่ได้ชื่อเล่น โดยมาจากดีไซน์ท้ายรถที่มีขอบฝากระโปรงหลังยกตัวขึ้นเป็นสันชัดเจน ซึ่งนับเป็นของใหม่ในรถตระกูลนี้ ซึ่งมีคนจินตนาการสันนูนนี้ เหมือนกับท้ายของเป็ดที่มีขนแหลมเฉียงขึ้นเหมือนกัน ซึ่งฉายานี้ใช้เฉพาะกันโฉมแรกเท่านั้น พอมีการไมเนอร์เชนจ์เปลี่ยนทรงไฟท้ายเป็นรหัสตัวถัง AE111 ก็เกิดฉายาตามชื่อสร้อยท้ายว่าไฮทอร์ค
เดิมทีฉายานี้มาจากรุ่น EF เพราะความแบน แต่พอรุ่น EG ออกมาแล้วมารุ่น 3 ประตูตามมาอีก ก็ทำให้ผู้คนเทฉายานี้ให้กับรุ่นนี้มากกว่า เนื่องจากความเรียบแบนและหน้าลิ่มแหลมมากกว่าเดิม แถมรุ่นท้ายแฮตช์แบ็คก็ยังดูเหมือนท้ายของเครื่องเตารีดที่ดีไซน์เหมือนกัน คนจึงนิยมเรียก EG ว่าเตารีดมากกว่าแล้วในปัจจุบัน (ส่วนรุ่น EF ก่อนหน้า ได้ฉายาท้ายแดง จากดีไซน์ไฟท้ายแทน)
ที่มาของชื่อนี้ได้มาจากไฟหน้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจากรุ่นเดิม(EG) โดยไฟหน้านี่เปรียบเหมือนดวงตาของคน จึงได้ฉายาว่าตาโตแบบตรงๆอย่างนี้เลย ซึ่งฉายานี้ไม่ได้รวมถึงฝาแฝดอย่าง Isuzu Vertex ที่ใช้พื้นฐานเดียวกันนะครับ
ซีวิคอีกรุ่นที่ต่อจากตาโต ซึ่งรูปทรงก็ยังคงไฟหน้าขนาดใหญ่คล้ายเดิม แค่ปรับเปลี่ยนเส้นสายให้มีสันนูนมากขึ้น ความเหลี่ยมสันและแหลมคมมากขึ้นนี่เอง ที่ถูกใช้เป็นคำโปรโมตในโฆษณาทีวีว่า New Dimension สื่อถึงรถยนต์มีความสวยงามแบบใหม่ คนชอบรถทั่วไปจึงจับเอาคำว่าไดเมนชั่นจากโษณานี้ มาเป็นฉายาติดปากซะเลย
รุ่นนี้ถือว่าเป็นการทิ้งทวนชื่อโคโรน่าครั้งสุดท้ายในไทย ด้วยการออกแบบให้ใหญ่กว่าเดิมทุกสัดส่วน มีการใช้ดีไซน์ท้ายรถที่อวบและยกเส้นเอวสูงขึ้นจากเดิม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับตระกูลโคโรน่านี้ จึงได้รับชื่อว่าท้ายโด่งจากฝาท้ายดังกล่าว ต่อมาในรุ่นไมเนอร์เชนจ์ครั้งที่ 2 ได้สร้อยท้ายชื่อรุ่นว่า Exsior เข้ามาเพิ่ม ดังนั้นชื่อท้ายโด่งจึงใช้เฉพาะ S190 โฉมเปิดตัว และโฉมไมเนอร์เชนจ์แรกเท่านั้น
เป็นแคมรี่รุ่นแรกที่บุกตลาดไทย มาแบบนำเข้าจากออสเตรเลีย ตอนแรกก็ยังไม่มีฉายาอะไรแพร่หลาย จนกระทั่งมีการไมเนอร์เชนจ์ ได้ปรับไฟท้ายใหม่ ที่มีแผงทับทิมท้ายดีไซน์ใหม่ มีเส้นแบ่งแยกแผงออก 2 ส่วน ดีไซน์เว้าหยักเฉียงลงล่าง ดูเหมือนทรงชามขนาด จึงมีบางคนเห็นว่า แผงทับทิมใหม่นี้ มีรูปร่างเหมือนเรือสุพรรณหงส์ นับว่าคนเราช่างเปรียบเทียบได้เหมือนแถมยังเป็นมงคลด้วย
เป็นแคมรี่รุ่นแรกที่ประกอบในไทย ดีไซน์มาแบบสปอร์ตจ๋า ด้วยไฟท้ายรีเรียวยาวแนวนอน ซึ่งนับเป็นของแปลกใหม่ที่ไม่พบในโตโยต้ารุ่นใดมาก่อน จึงมีคนเปรียบเทียบให้เป็นไม้บรรทัด ด้วยรูปทรงเหลี่ยมยาวเหมือนกัน ส่วนโฉมไมเนอร์เชนจ์ได้ปรับขอบล่างไฟท้ายให้เฉียงลงมาจรดทะเบียน จึงได้ฉายาท้ายย้อยไปแทน
ตอนแรกที่ได้ยินเต้นท์รถเรียกแบบนี้ก็ตกใจเหมือนกัน สำหรับเจ้ารถ Toyota Vios รุ่นปี 2007-2013 ที่เป็นรถขนาดเล็กมีความโค้งมน โป่งนูนเรียบตลอดคัน และขนาดที่สั้นป้อม ทำให้หลายคนนึกถึงสัตว์ที่มีขนาดเล็ก ผิวลายเรียบ ขนาดอวบอ้วนเกินตัว ซึ่งคงหนีไม่พ้นตัวเห็บตอนที่ดูดเลือดจนบวมเบ่งแล้วนั่นเอง
อีกหนึ่งฉายาที่เรียกกันติดปาก จนแทบลืมรหัสตัวถังกันไปแล้ว กับรถหรูค่ายฮอนด้า โฉมปี 1992 ที่พลิกโฉมจากเดิมด้วยการใช้ไฟหน้าแบบมัลติรีเฟลกเตอร์ เป็นจานฉายที่ทำมุมสะท้อนแสง พร้อมกับโคมแบบใส ทำให้มองเห็นภายในไฟ ที่ดูไกลๆเหมือนเป็นเหลี่ยมเจียรนัยเพชร ทำให้คนทั่วไปเชื่อมโยงกับไฟหน้านี้เป็นชื่อตาเพชรดังกล่าว
รถซีดานขนาดใหญ่ที่มีฉายามาจากดีไซน์ท้ายรถ ซึ่งสมัยนั้นมี 2 แบบคือ โฉมแรกไฟท้ายชิ้นเดียวอยู่มุมตัวถัง จึงได้ชื่อว่าท้ายก้อนเดียว ต่อมาในรุ่นไมเนอร์เชนจ์ เพิ่มไฟท้ายอีกชิ้นหนึ่งมาติดตรงฝากระโปรงต่อเนื่องกัน จึงได้ฉายาว่าโฉมท้ายสองก้อน นับเป็นอีกรุ่นที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะทรงสวยแต่งสปอร์ตแล้วดูขึ้น
ซีดานขนาดใหญ่รุ่นต่อจากท้ายก้อน ที่มีความเพรียวลม มีดีไซน์เพรียวบาง กับขอบกระจังหน้าที่มีสันนูนแนวตั้งยื่นออกมา บวกกับไฟหน้าปลายแหลม พร้อมช่องดักลมล่างขนาดใหญ่และกว้างกว่าเดิม ทำให้ดูเหมือนงูที่มีเขี้ยวขนาดใหญ่จนยื่นล้ำออกมา ซึ่งก็คืองูเห่านั่นเอง ส่วนโฉมไมเนอร์เชนจ์ได้สร้อยชื่อเป็น Prestige แต่ก็ยังมีบางคนนิยมเรียกเหมารวมทั้งสองโฉมว่างูเห่าไปเลย
รถหรูรุ่นต่อจากงูเห่า ที่พลิกรูปทรงใหม่หมด จากเดิมที่เพรียวแบน กลายเป็นสูงใหญ่กว่าเดิมชัดเจน ด้วยไฟหน้าเรียวแหลมและกระจังรูเล็ก กับไฟท้ายแนวนอนแบนยาว ทำให้มีพื้นที่ตัวถังเหลือเยอะ จนได้โชว์ความโค้งมน ทำให้คนจินตนาการถึงปลาวาฬ สัตว์น้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยความใหญ่โต และโค้งมนนั่นเอง
นับเป็นฉายารถที่แปลกมาก เพราะเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็เรียกในหมู่คนไทยจนเข้าใจ สมัยออกมาใหม่ๆ มีการเรียกว่าโฉมนางสาวไทย เพราะถูกใช้เป็นของรางวัลให้กับนางสาวไทยในตอนนั้นคือ ป๊อบ อารียา แต่ชื่อฉายานี้ก็ซาลงไป จนกระทั่งทางเชียงกงได้นำอะไหล่รุ่นนี้ตัดเข้ามา และมีรหัสตัวถังสารพัดแบบ ทั้ง E-CC, E-CD. E-CB ดังนั้นจึงเรียกอักษรตัวแรกรวมๆไปเลยว่า E-Car จนถึงปัจจุบัน
อันนี้เป็นความบังเอิญของรุ่นนี้จริงๆ ที่ออกแบบไฟท้ายมาทรงคล้ายกับเบนซ์ซีคลาส โดยในปี 1996 ได้เปิดตัวทำตลาดต่อจากรุ่นอีคาร์ กับดีไซน์ไฟท้ายสามเหลี่ยม ที่ไม่ซ้ำใครเลย นอกจากรถหรูจากเยอรมัน จึงเป็นที่มาของฉายานี้อย่างเถียงไม่ออกเลย
พูดถึงเบนซ์ ก็นึกถึงฉายาที่ดังสุดในรถยุโรปนั่นคือ โลงจำปา ที่ใช้เรียกให้กับรุ่น E-class รหัสตัวถัง W124 ทุกโฉม ตั้งแต่ Code A ตัวแรก คิ้วกระแทกสีดำ, Code B เพิ่มกาบข้างรถ, Code C เปลี่ยนฝากระโปรง ย้ายชื่อรุ่นเป็นแบบ Eหน้า โดยฉายาโลงจำปานี้ได้มาจากท้ายรถ ที่ตัดท้ายลงในแนวตั้งตรงเรียบๆ พอมองมุมตรงก็เห็นส่วนนูนออกที่ด้านข้างและด้านบน เสมือนเป็นโลงศพสไตล์จีน จึงถูกเรียกว่าโลงจำปา ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นมงคลที่ได้ขับรุ่นนี้ด้วย ด้วยความเชื่อเรื่องการนอนในโลงสะเดาะเคราะห์ไปในตัว
รถเบนซ์รุ่นเก่า ผู้เปิดตลาดเมืองไทยให้รู้จักเบนซ์แพร่หลาย ตั้งแต่ยุค 60 ด้วยฉายาที่ได้มาจากไฟหน้าดีไซน์เหลี่ยมแนวตั้ง ที่มีความปูดโปนยื่นออกมาจากกรอบไฟหน้า ทำให้หลายคนนึกถึงตาตั๊นแตนที่ปูดโปนออกมาจากส่วนหัวเหมือนกัน นอกจากฉายานี้แล้วยังมีชื่อเล่นอีกว่า ทับแปด ซึ่งแปลตรงตัวมาจากฉายาในต่างประเทศที่นิยมเรียกกันว่า Slant eight มาจากตัวเลขรหัสตัวถังของรุ่นนี้ที่มักจะลงท้ายว่า /8 นั่นเอง
ฉายานี้เป็นของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซีคลาส รถขนาดเล็กรูปร่างทันสมัย ด้วยการออกแบบไฟหน้าคล้ายกับวงกลม 2 ชิ้นรวมกัน กลายเป็นรูปเลข 8 ตะแคง แต่กลับดูเหมือนฝักถั่วลิสง ที่ลักษณะเป็นกระเปาะสองอันเชื่อมกัน แกะฝักออกมาแล้วจะมีถั่วข้างใน 2 ลูกรวมกัน เหมือนกับไฟหน้ารุ่นนี้
รถกระบะในยุค 70 ที่มีความโดดเด่นกว่าใครในยุคนั้น ด้วยดีไซน์คล้ายกับรถเก๋งในค่ายอย่าง Datsun Violet ซึ่งถือเป็นจุดขายเด่นมาก นอกจากนี้ยังมีอีกจุดเด่นหนึ่งที่คนจำได้ นั่นคือการนำรถกระบะดัทสันรุ่นนี้ มาถ่ายทำโฆษณาโดยใช้ลูกช้าง ขึ้นไปเหยียบบนกระบะหลังเพื่อสื่อถึงความแข็งแกร่ง โดยเป็นภาพรถกระบะสีขาว ที่มีช้างอยู่ในกระบะหลังโดยที่ไม่หักเลย เป็นภาพที่โด่งดังจนไม่ว่าจะโฆษณาเรื่องใดของกระบะดัทสัน ก็ต้องมีภาพนี้ปรากฎอยู่ด้วย กลายเป็นกิมมิคของรุ่นนี้ไปเลย
รถกระบะในตำนานแห่งความอึดถึกทนทาน ที่มาของชื่อนี้ เริ่มมาจากในตอนแรกของรุ่นนี้ที่ใช้ฝาครอบวาล์วสีทอง เพื่อโปรโมตระบบไดเร็คอินเจคชั่น จนต่อมามีการไมเนอร์เชนจ์ครั้งใหญ่ ที่เปลี่ยนไฟหน้าแบบมัลติรีเฟลคเตอร์ใช้ชื่อว่า Dragon Eye พร้อมกับเครื่องยนต์คอมมอนเรล Dragon Power ทำให้คำว่ามังกร พบกับคำว่าทอง เกิดเป็นฉายามังกรทอง เรียกรวมทั้งเจนเนอร์เรชั่นนี้ไปเลย
ฉายารถต่างๆ ที่อ่านมานี้ เป็นแค่ตัวอย่างของรุ่นดังๆที่ยอดนิยมในไทยเท่านั้น ยังมีอีกหลายโฉมที่ได้รับฉายา แต่ไม่ค่อยโด่งดังนัก เช่น หน้าแมว หน้าเบนซ์ แปะยิ้ม แมลงสาบ ฯลฯ มีไว้เรียกกันเพื่อระบุรุ่นเจาะจงกันในวงการ ซึ่งความสนุกอยู่ที่ เราจะไม่รู้เลย ว่าจินตนาการของมนุษย์จะสิ้นสุดที่ไหน เมื่อรถรุ่นใหม่ๆออกมา จะได้ฉายาอะไรอีก ก็ต้องติดตามอัพเดตความรู้กันต่อไป แล้วพบกับความรู้เรื่องรถตอนต่อไปกันอีก สวัสดีครับ