เครื่องยนต์ดีเซล ที่รู้จักเป็นส่วนใหญ่ มักถูกวางอยู่ในรถกระบะและรถพาณิชย์หลากรุ่น สาเหตุที่ได้รับความนิยม ก็อยู่ตรงที่สามารถฉุดลากของหนักได้ดีกว่าเครื่องยนต์เบนซิน หรือที่รู้จักกันว่ามีแรงบิดมากกว่า แต่หลายคนคงสงสัยว่าทำไมเครื่องที่ไม่มีหัวเทียน แถมใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมีความวาปไฟต่ำกว่าเบนซิน ถึงได้มีแรงบิดมากกว่าเครื่องเบนซิน ที่ใช้เชื้อเพลิงมีทั้งหัวเทียนช่วยจุด และเบนซินไวไฟกว่า และนั่นคือ คำถามที่จะมาตอบกันในวันนี้ โดยแบ่งเป็น 5 ข้อ อธิบายให้เข้าใจง่ายกันครับ
1. อัตราส่วนกำลังอัดสูง เครื่องยนต์ดีเซลนั้น มีระยะทางที่ลูกสูบขึ้น-ลงมากกว่าเบนซิน เพราะต้องการให้ลูกสูบอัดอากาศให้หนาแน่นที่สุด จนเกิดความร้อนและถึงจุดระเบิดได้เองเมื่อฉีดน้ำมันเข้าไป เมื่อกำลังอัดสูงแล้ว นั่นก็ทำให้เกิดแรงกระทำมากขึ้นตามหลักฟิสิกส์ เปรียบง่ายๆ เหมือนคนต่อยมวย ถ้าง้างหมัดยาว ก็จะชกได้แรงกว่าคนง้างหมัดสั้นนั่นเองครับ
2. จุดระเบิดเร็ว เนื่องจากการระเบิดของเครื่องดีเซล เกิดจากการที่ไอดีถูกบีบอัดแน่น ยิ่งแน่นก็ยิ่งเกิดอุณหภูมิสูงขึ้น จนกระทั่งน้ำมันดีเซลติดไฟด้วยตัวเอง เกิดเป็นการระเบิดที่เกิดขึ้นทุกจุดแทบจะพร้อมกันเลย ไม่ว่าน้ำมันดีเซลอยู่มุมไหนของห้องเผาไหม้ ต่างจากเครื่องเบนซินที่ไม่ได้อัดไอดีจนแน่น แต่ใช้หัวเทียนในการจุดไฟ ทำให้เกิดการระเบิดเริ่มจากน้ำมันส่วนที่อยู่ใกล้หัวเทียนก่อน แล้วค่อยลามไปยังพื้นที่อื่นๆ ในห้องเผาไหม้ ทำให้ดีเซลได้เปรียบกว่าตรงที่ไม่ต้องรอการลามไฟ จุดระเบิดได้พร้อมกันไปดันลูกสูบได้เร็วกว่า เกิดเป็นแรงบิดที่ดีกว่าด้วย
3. ข้อเหวี่ยงยาว สืบเนื่องจากข้อ 1 ที่กำลังอัดสูง ดังนั้นจึงต้องทำข้อเหวี่ยงให้ยาวขึ้น เพื่อดันลูกสูบไปอัดไอดีจนแน่น ดังนั้นจากหลักฟิสิกส์แล้ว ยิ่งระยะทางมากขึ้น ก็ยิ่งได้มีแรงบิดมากกว่า เมื่อเทียบกับข้อเหวี่ยงของเบนซิน เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนเราทำงานยกของหนัก ยิ่งมีระยะทางมาก ก็ต้องยิ่งใช้พลังงานมากเช่นกัน
4. น้ำมันดีเซลให้พลังงานมาก เมื่อเทียบกับน้ำมันเบนซินในปริมาตรเท่ากันแล้ว เชื้อเพลิงดีเซลจะให้พลังงานมากกว่า แม้ว่าจะมีความวาบไฟต่ำ (ติดไฟยาก) แต่เมื่อติดไฟแล้ว สามารถให้ความหนาแน่นของพลังงานออกมามากกว่า 10-15 % ของน้ำมันเบนซิน อันเป็นธรรมชาติจากของสูตรเคมีอยู่แล้ว
5. เครื่องยนต์รองรับเทอร์โบ โดยส่วนใหญ่แล้ว เครื่องยนต์แบบดีเซล มักจะมีส่วนผสมไอดีค่อนข้างบาง เพื่อให้อากาศขยายตัวได้มาก อีกทั้งยังมีบล็อคเสื้อสูบและฝาสูบที่แข็งแรงที่ทำไว้รองรับ กำลังอัดสูงและอุณหภูมิที่สูงไว้แล้ว ทำให้การติดเทอร์โบเป็นเรื่องง่ายขึ้น ไม่ต้องเซ็ตไส้ในเพิ่มเติมมากนัก ซึ่งการติดเทอร์โบนี้ ก็ช่วยให้เกิดแรงบิดได้อีกทาง แถมยิ่งเป็นลิ้นเทอร์โบปรับได้ ก็จะเกิดแรงบิดอย่างต่อเนื่องไปอีก อ่านเพิ่มเติมเรื่องเทอร์โบได้ที่ เทอร์โบ F55 คืออะไร
คราวนี้เราก็รู้ต้นตอแล้วว่า เครื่องยนต์ดีเซลแรงบิดสูงกว่าชัดเจนอย่างไม่ต้องสงสัยกันแล้ว เพื่อใช้ฉุดลากหรือโหลดน้ำหนักเยอะได้อย่างดี หากจะโมดิฟายเพิ่มก็ยังมีอนาคต เห็นได้จากงานแข่งรายการต่างๆ ก็ยังมีสายดันรางแต่งกันให้เพียบ นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนอยากแรง ที่ต้องเข้าใจถึงที่มาแรงบิดด้วย และคอลัมน์ Knowledge ยังมีความรู้เรื่องรถในตอนต่อไปให้อ่านกันอีก แล้วพบกันใหม่ทาง BoxzaRacing นะครับ