ในปัจจุบันค่ายรถหลากหลายค่ายต่างก็พากันคิดค้น พร้อมนำเสนอ และเปิดตัวรถรุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับระบบขับเคลื่อนสี่ล้อกันมากขึ้น ซึ่งก็มีให้เลือกใช้มากมายหลายแบบ ทั้งแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ AWD (All-Wheels Drive) ที่มีทั้งแบบ Full-Time และ Part-Time หรือบางค่ายอาจมาพร้อมกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่สามารถถ่ายเทกำลังไปยังล้อต่างๆ ได้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ AWD นั้น คงไม่มีอะไรที่ยุ่งยากสักเท่าไหร่ วันนี้ทางทีมงาน BoxzaRacing จึงขอหยิบนำเอาระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ 4x4 ที่มีทั้งแบบ 4H และ 4L มาอธิบายวิธีการใช้ที่ถูกต้อง และแบบไหนควรใช้กับสถานการณ์อย่างไรให้เข้าใจโดยทั่วกัน
ข้อดี และข้อเสียของระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ และ 4 ล้อ
ข้อดี/ข้อเสีย ระหว่างระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ และ 4 ล้อ
ก่อนจะไปถึงวิธีการใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ 4x4 เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าข้อดี และข้อเสียของระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ และ 4 ล้อเป็นอย่างไร สำหรับระบบขับเคลื่อ 2 ล้อนั้น โดยปกติจะส่งกำลังไปยังล้อหลัง 100% (รถขับหลัง) กับล้อหน้า 100% (รถขับหน้า) ซึ่งมีประโยชน์ในเรื่องของการประหยัดน้ำมัน เพราะล้อถูกขับเคลื่อนแค่เพียง 2 ล้อ ทำให้ไม่เกิดแรงหน่วง และจะมีรัศมีวงเลี้ยวที่แคบกว่ารถขับเคลื่อน 4 ล้อ แต่ข้อเสียคือจะไม่เกาะถนนเท่าระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ อาจเกิดอาการ Understeer ในการเข้าโค้งได้สำหรับรถขับหน้า และ Oversteer ได้ในรถขับหลัง ส่วนข้อดีของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็คือ จะให้การขับขี่ที่เกาะถนนกว่า เนื่องจากล้อทั้ง 4 ล้อถูกขับเคลื่อนไปพร้อมกัน และมีกำลังที่สมดุลกัน แต่ก็จะมีอัตราการบริโภคน้ำมันที่มากกว่า และมีรัศมีวงเลี้ยวที่กว้างกว่ารถขับเคลื่อน 2 ล้อ
วิ่งบนถนนธรรมดา ที่ต้องการใช้ความเร็ว และมีทางตรงเป็นส่วนใหญ่ควรเลือกใช้ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ
หากเจอถนนที่เปียกลื่น มีโค้งเยอะ หรือเส้นทางธรรมชาติที่ต้องการการเกาะถนน ควรเลือกใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
ซึ่งวิธีการใช้ที่ถูกต้องคือ หากคุณวิ่งบนถนนดำ ใช้งานในเมือง หรือบนสภาพถนนแบบปกติ (ไม่เปียก หรือลื่นไถล) ที่ต้องการใช้ความเร็ว และมีทางตรงเป็นส่วนใหญ่ ควรใช้งานระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ แต่หากสภาพถนนเปียกลื่น หรือมีโค้งเยอะที่ต้องใช้ความเกาะถนนเป็นพิเศษ ควรเลือกใช้งานระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ส่วน 4H และ 4L แตกต่างกันอย่างไร และ 4L มีไว้ทำอะไร จะใช้ในสถานการณ์แบบไหนไปดูกันเลย
ปัจจุบันระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ค่ายรถต่างๆก็ออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก เพียงแค่กดลง หรือบิดไปยังระบบขับเคลื่อนที่ต้องการใช้งาน
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อนั้น บางค่ายก็อาจจะมีให้เลือกแบบ 4 ล้อธรรมดา (4H) กับ 4 ล้อใช้ความเร็ว (4HLc) แยกออกมา อย่างค่าย Mitsubishi ที่มีทางเลือกเพิ่มให้เลือกใช้อีก แต่ส่วนใหญ่จะมีให้ใช้งานเพียง 3 ระบบ ก็คือ 2H, 4H และ 4L นั่นเอง โดยส่วนใหญ่แล้ว 4H นั้น จะเหมาะแก่การใช้งานในทางลูกรัง, บนถนนที่เปียกลื่น หรือเส้นทางทุรกันดานที่สามารถใช้ความเร็วได้ ซึ่งระบบจะสั่งให้กระจายแรงบิดจากเครื่องยนต์ลงสู่ล้อทั้ง 4 ล้อที่เท่ากัน ในอัตราส่วนหน้า-หลัง 50:50 หรือบางค่ายอาจมีการแบ่งกำลังที่ 40:60 ตามแต่สถานการณ์ และการออกแบบระบบก็ว่ากันไป
ระบบ 4L เหมาะแก่การขับขี่ในเส้นทางออฟโรดขนานแท้ หรือเส้นทางที่จำเป็นต้องใช้แรงบิด ห้ามใช้ความเร็วเกิน 30 กม./ชม.
ส่วนการใช้งาน 4L นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถเลือกใช้งานได้โดยจำเป็นต้องจอดรถให้นิ่งสนิท พร้อมกับเข้าเกียร์ว่าง N ก่อน จึงจะสามารถบิด หรือกดปุ่มควบคุมไปยังตำแหน่ง 4L ได้ ซึ่งระบบ 4L นี้ เป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่ต้องใช้ความเร็วต่ำ (ความเร็วไม่ควรเกิน 30 กม./ชม.) โดยระบบจะไปปรับเปลี่ยนอัตราทดเกียร์ และเฟืองท้าย ทำให้มีแรงบิดที่สูงขึ้น เหมาะแก่การขับขี่ในเส้นทางออฟโรดขนานแท้ ไม่ว่าจะเป็นการปีนป่าย, การลุยโคลน, การไต่ทางชัน (ขึ้นเขา-ลงเขา), การลุยน้ำ หรือง่ายๆ คือ เส้นทางที่จำเป็นจะต้องใช้แรงบิดในการขับผ่านไปให้ได้นั่นเอง ซึ่งวิธีการใช้งาน 4L ที่ถูกต้อง คือการปล่อยให้แรงบิดของเครื่องยนต์ทำงาน (Walking Speed) โดยไม่จำเป็นต้องใช้คันเร่ง เพียงแต่ต้องบังคับควบคุมทิศทางให้ดี และไปยังไลน์ที่ถูกต้อง แรงบิดจะพาตัวรถเคลื่อนที่อย่างช้าๆ ปีนป่าย และฝ่าอุปสรรค์ไปได้เอง อาจจะมีบางจังหวะที่ต้องเติมคันเร่งช่วย (ควรค่อยๆ เติมคันเร่ง) ซึ่งห้าม Kickdown หรือกดคันเร่งอย่างรวดเร็วโดยเด็ดขาด
หากติดหล่มควรถอยหลังออก และหาไลน์ใหม่ ห้ามเร่งเครื่องยนต์จนเต็มที่ เพราะจะยิ่งทำให้รถจมลงในโคลนมากยิ่งขึ้น
การขับลุยน้ำควรใช้ความเร็วต่ำ ไม่ควรขับลงน้ำด้วยความเร็วจนน้ำดันขึ้นมาเหนือฝากระโปรง และควรระวังอย่าให้น้ำมีระดับที่สูงกว่ากรองอากาศ
เคล็ดลับในการขับทางออฟโรด
หากคุณใช้งานระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ 4L แล้ว ยังไปติดหล่ม หรือติดโคลน วิธีการแก้ไขที่ถูกต้องคือ ควรถอยหลังออก และหักพวงมาลัยเปลี่ยนไปยังไลน์อื่นแทน ห้ามเร่งเครื่องยนต์จนเต็มที่!!! เพราะจะยิ่งทำให้รถจมลงในโคลนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากล้อทั้ง 4 จะปั่นอยู่กับที และฟรีทิ้ง ส่วนการขับลุยน้ำที่ถูกต้อง คือการขับไปในความเร็วที่ต่ำ ไม่ควรขับลงน้ำด้วยความเร็วจนน้ำดันขึ้นมาเหนือฝากระโปรง ควรใช้ความเร็ว Walking Speed ค่อยๆ ไป และควรระวังอย่าให้น้ำมีระดับที่สูงกว่ากรองอากาศ หากเครื่องยนต์ดับขณะขับ ไม่ควรสตาร์ทเครื่องยนต์โดยเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความเสียหายมากยิ่งขึ้น ควรใช้อุปกรณ์ช่วยเหลืออย่างวินช์ลากออกมา และรีบนำรถเข้าไปตรวจเช็คที่ศูนย์บริการโดยทันที