ตัดต่อวิดีโอโดย: LUCKY-THIRTEEN
----------------------------------------------------------------------------------------
สำหรับในการแข่งขัน Thailand Super Series 2017 ในปีนี้ ก็มีรุ่นการแข่งขันใหม่ที่พึ่งเปิดใหม่เป็นปีแรก ซึ่งนั่นก็คือ รุ่นการแข่งขัน Thailand Super Car GTM Plus โดยในรุ่นนี้กฎและกติกา อนุญาตให้รถแข่งประเภท Cup Car ที่ีสมรรถณะสูงๆ รุ่นใหม่ๆ ที่ไม่สามารถลงไปแข่งกับรถแข่งในรุ่นก่อนได้ สามารถลงแข่งขันพร้อมกับรถแข่งใน Class GT3 ที่ต่ำกว่าปี 2013 ซึ่งรถแข่งในรุ่นนี้ ต่างก็มาจากหลายสำนัก หลายที่ ทำให้ต้องมีการกำหนดกติกาขึ้นมา เพื่อให้รถแข่งแต่ละคันนั้น มีความเท่าเทียม และไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบกัน จึงเกิดมาเป็นกฎกติกาที่ชื่อว่า BOP หรือ Balance of Performance นั่นเอง และสำหรับในวันนี้ทาง BoxzaRacing ได้รับเกียรติจากคุณโต้ง สรัญ เสรีธรณกุล หนึ่งในนักแข่งสังกัดทีม Racing Spirit ครม. คนรักเมีย PSC Motorsport ที่ลงแข่งขันในรุ่นของ Thailand Super Car GTM Plus ด้วยรถแข่ง Lamborghini Huracan Super Trofeo จะมาอธิบายและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเจ้า BOP หรือ Balance of Performance กันครับ
Lamborghini Huracan Super Trofeo
สำหรับการกำหนด BOP ในส่วนของความแรง หรือแรงม้า จะใช้การกำหนดปากทางเข้าไอดี
กล่องอุปกรณ์ที่จะดึงข้อมูลจากกล่อง ECU ไม่ว่าจะเป็นความเร็ว การเหยียบคันเร่ง การเบรค เพื่อนำไปคำนวณค่า BOP
สำหรับเจ้า BOP จะเป็นการกำหนดทั้งแรงม้าและตัวน้ำหนักของรถแข่งทั่วโลกแต่ละคัน ไม่ให้มีความได้เปรียบเสียเปรียบเกินไป โดยในส่วนของแรงม้านั้น จะกำหนดอยู่ที่ปากทางเข้าไอดีว่าควรจะมีขนาดเท่าไร ส่วนในเรื่องของความเร็วในการเข้าโค้ง รวมไปถึงสมรรถณะในการเบรคนั้น จะดูกันที่น้ำหนัก ซึ่งในส่วนนี้ จะมีการเก็บข้อมูลของรถแข่งทั่วโลก เพื่อที่จะหาและกำหนดค่า BOP ของรถแต่ละรุ่นออกมานั่นเอง ซึ่งสำหรับในประเทศไทยในการแข่งขัน Thailand Super Series ก็ได้ให้ทาง Race Technology เป็นผู้ดำเนินจัดการเกี่ยวกับระบบ BOP โดยจะมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่จะดึงข้อมูลจากระบบกล่อง ECU ของรถ ไม่ว่าจะเป็นความเร็ว การเหยียบคันเร่ง การเบรคต่างๆ เพื่อที่จะส่งข้อมูลไปยังประเทศอังกฤษ และทำการจำลองข้อมูลในสนามว่า รถแข่งแต่ละคันมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบตรงไหน และนั้นควรมีค่า BOP เท่าไร
ส่วนในเรื่องของความเร็วในการเข้าโค้ง รวมไปถึงสมรรถนะในการเบรคนั้น จะดูกันที่น้ำหนักของตัวรถ
กฎ Balance of Success สร้างความสมดุล และความสนุก ตื่นเต้น ในการแข่งขันและลุ้นตำแหน่งแชมป์มากขึ้น
นอกจากกฎกติกา Balance of Performance ยังมีอีก 1 กติกา ที่ใช้ในการแข่งขัน Thailand Super Car GTM Plus ก็คือ กฎในเรื่องของ Balance of Success ว่าง่ายๆ ก็คือ กฎการถ่วงน้ำหนัก โดยผู้ที่คว้าอันดับที่ 1 จะมีการถ่วงน้ำหนัก 30 กก., อันดับที่ 2 ถ่วงน้ำหนัก 20 กก., อันดับที่ 3 ถ่วงน้ำหนัก 10 กก. และอันดับที่ 4 จะมีการถอดน้ำหนักออก ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความสมดุล และความสนุก ตื่นเต้น ในการแข่งขันและลุ้นตำแหน่งแชมป์มากขึ้นนั่นเอง
คุณโต้ง สรัญ เสรีธรณกุล 1 ในนักแข่ง Racing Spirit ครม. คนรักเมีย PSC Motorsport
โดยในการแข่งขัน Thailand Super Car GTM Plus ในสนามที่ 5 รถแข่ง Lamborghini Huracan Super Trofeo ของคุณโต้ง สรัญ เสรีธรณกุล ต้องโดนบวกน้ำหนักถึง 50 กิโลกรัม แถมยังถูกบีบค่า BOP ให้ลดปากทางเข้าไอดีเหลือเพียง 38 มม. จาก 41 มม. ทำให้ทางทีมต้องทำการเซ็ทอัพรถแข่งใหม่ เพื่อที่จะสามารถกลับไปทำความเร็วได้เหมือนเดิม ซึ่งทางคุณโต้ง สรัญ เสรีธรณกุล เอง ก็อยากจะฝากให้แฟนๆ ช่วยเชียร์และเป็นกำลังใจให้กับทางทีม Racing Spirit ครม. คนรักเมีย PSC Motorsport ด้วยนะครับ ส่วนในครั้งนี้จะมีความรู้เกี่ยวกับรถยนต์ หรือรถแข่งเรื่องไหนมาฝากกันอีก ก็ต้องติดตามกันนะครับ วันนี้คงต้องลากันไปก่อน สวัสดีครับ