ความรู้เรื่องรถ ตอนนี้มาพร้อมกับคำว่า “นิรภัย” คำนี้อยู่หลังสิ่งของอะไรแล้ว เป็นไปได้ว่าของสิ่งนั้น สามารถวางใจในเรื่องความปลอดภัยได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะ ตู้นิรภัย ที่สามารถเก็บทรัพย์สิน หรือ กระจกนิรภัย ที่สามารถป้องกันอาการบาดเจ็บจากกระจกแตกได้ ใช่แล้วครับ...น๊อตล้อนิรภัย ก็เช่นเดียวกัน
เพื่อนๆ แต่ละคนอาจจะเคยแต่งรถบ้าง บางคันนั้นจำแทบไม่ได้อย่างกับเปลี่ยนไปคนละคัน หรือบางคันก็ยังพอมีเค้าของเดิม เพียงแต่ความหล่อที่เพิ่มขึ้นมาจากเดิมอีกหลายเท่า โดยสิ่งหนึ่งที่เพื่อนๆ ชอบเปลี่ยนนั่นคือก็ ล้อแม็ก นั่นเองครับ ด้วยราคาที่ก็ไม่ใช่ถูกๆ บวกกับเป็นสิ่งที่สามารถถอดเข้าออกได้ง่ายที่สุด ในรถทำให้หลายๆ ครั้ง มีข่าวคราวให้เห็นว่าโดนขโมยล้อแม็ก เมื่อไปจอดที่ลับสายตา เป็นต้นครับ แต่ต่อมาเหล่าผู้ผลิตก็หัวใส คิดค้นอุปกรณ์ป้องกันการขโมยได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งวันนี้เราก็จะมาทำความรู้จักกับเจ้า น๊อตล้อนิรภัย กันครับ
สำหรับเจ้าน๊อตล้อนิรภัย ก็คือ น๊อคล้อที่ใช้ยึดล้อแม็กทั่วไปเนี่ยแหละครับ แต่ทว่า แทนที่จะใช่บล็อคหกเหลี่ยมธรรมดาทั้งหมด 4-6 ตัว ในการยึดล้อ ก็เพียงเปลี่ยน 1 ในนั้น ให้เป็นรูปแบบอื่น โดยที่จำเป็นต้องใช้บล็อคขันชนิดพิเศษ เพื่อไขออกเท่านั้น ถามว่าข้อดีของมันก็คงเด่นชัดอยู่แล้ว คือ การที่มันสามารถกันขโมยได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ตามมา คือ เพื่อนๆ จำเป็นจะต้องพกเจ้าบล็อคพิเศษไปด้วยทุกที่ และที่สำคัญห้ามหาย !!! เพราะถ้าหาย นั่นหมายความว่าเพื่อนๆ แทบจะไม่มีทางเอาล้ออกเลยทีเดียวนะครับ
ส่วนการเลือก น๊อตล้อนิรภัย อย่างไรดี ก่อนอื่นเลยให้เน้นความแข็งแรงเอาไว้ก่อน เรียงตามความแข็งแรงด้วยวัสดุ เริ่มต้นด้วยเหล็ก, สเตนเลส หรือไทเทเนี่ยมแท้ๆ อย่าติดกับคำโฆษณาว่าเป็นน๊อตแบบเบา เพราะแทบไม่มีผลกับน้ำหนักล้ออย่างเห็นได้ชัด หากเจอเครื่องมือบล็อกลมไม่กี่สิบครั้ง อาจจะเปราะง่ายกว่าน๊อตเหล็กน้ำหนักปกติได้ เว้นแต่ว่าจะเป็นอะลูมิเนียมฟอร์จเท่านั้น
น๊อตล้อนิรภัย โดยทั่วไปราคาไม่ถึงพันบาท ซึ่งถือว่าคุ้มค่าเงิน เมื่อแลกกับความปลอดภัยของล้อแม็กแท้ที่เราใส่ๆ กันราคาหลักหมื่น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่สามารถป้องกันการสูญหายของล้อแม็กสุดที่รักได้เป็นอย่างดี แม้กระทั่งปัจจุบันรถราคาแพงหลายค่ายก็ใส่มาจากโรงงานเป็นมาตรฐานแล้ว เหมือนจ่ายเงินซื้อความคุ้มครองล้อแม็กราคาหลายหมื่น เข้าข่ายเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย โดยหลังจากที่เพื่อนๆ เลือกน๊อตล้อนิรภัยเสร็จแล้ว ก็อย่าลืมกลับมาอ่านคอลัมน์ ความรู้เรื่องรถ ในตอนต่อไปกันนะครับ