เขียนโดย: RaiToZ Boxza

เมื่อ: 20 กรกฏาคม 2560 - 14:59

Twin Turbo การทำงานของหอยคู่ กับความแรงที่ไม่ต้องสงสัย มีดีอย่างไร ไปชมกัน

          การตกแต่งเครื่องยนต์นั้น เป็นสิ่งแรกๆ ของเหล่านักซิ่งที่ต้องคิดถึง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนลูกสูบ แปรผันกำลังอัด ขัดพอร์ท รวมไปถึงพ่วงระบบอัดอากาศอย่าง Turbocharger อีกด้วย ซึ่งวันนี้ เราจะมาเจาะกับเจ้าสิ่งที่เรียกกันว่า Turbo กันครับ เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนคงเคยได้ยินใครๆ พูดถึง “โบคู่” หรือ Twin Turbo ที่ดูจะเป็นเคล็ดลับความแรงสำหรับรถหลายๆ คัน ซึ่งรายละเอียดการทำงาน และข้อดีของ Twin Turbo จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้น เราไปชมพร้อมๆ กันเลยครับ

 

 

           ก่อนอื่น...เรามาดูหลักทำงานของ Turbocharger ว่าทำงานอย่างไร ซึ่งทางทีมงานของ BoxzaRacing เคยนำมาให้เพื่อนๆ หลายคนเข้าใจกันแล้ว แต่วันนี้เราจะยกรับความดิบด้วยการยัดเทอร์โบไปถึง 2 ตัว หากเป็นนักซิ่งตัวจริงต้องรู้อยู่แล้วว่า Turbo เพียงตัวเดียวนั้น สามารถสร้างความหรรษาได้เพียงใด และในวันนี้เราจะพาเพื่อนๆ มาชมวิธีการจัดวางและผังการทำงานของ Twin Turbo หรือ เทอร์โบคู่ ว่ามันเป็นอย่างไร โดยที่เจ้า Twin Turbo จะมีการติดตั้งหลักๆ อยู่ 2 แบบ ที่เราจะพูดถึงในวันนี้ นั่นคือ แบบที่ทำงานแยกกันอย่างอิสระ และแบบที่ทำงานร่วมกัน

 

แบบที่ทำงานแยกกันอย่างอิสระ (Parallel Lag )

 

 

          การติดตั้งแบบนี้ อาจจะค่อนข้างพบเห็นได้ไม่บ่อยในรถสปอร์ตเครื่องยนต์แถวเรียง ไม่ว่าจะ 4 สูบ หรือ 6 สูบ เพราะเจ้าการติดตั้งแบบนี้ ส่วนใหญ่จะติดตั้งกับเครื่องยนต์จำพวก V- Engine ไม่ว่าจะ V6 ไปจนถึง V12 โดยที่ติดตั้งตัวเทอร์โบแบบแยกออกจากกันที่ฝั่งซ้ายและฝั่งขวา โดยที่ใช้ขนาดของเทอร์โบที่เท่ากัน เชื่อมต่อมายังอินเตอร์คูลเลอร์ตัวเดียว ยิงตรงเข้าเครื่องยนต์ หลายๆ คนคงเริ่มเข้าใจว่ามันเหมือนพวกการติดตั้งแบบทั่วไปหรือเปล่า คำตอบคือ ถูกต้องครับ เหมือนกัน เพียงแต่เป็นการทำงานของ 2 ตัว ควบคู่กันไปนั่นเองครับ

 

แบบที่ทำงานร่วมกัน (Sequential Lag )

 

           แบบนี้เรียกได้ว่า เป็นพิมพ์นิยมของรถซิ่งเมืองไทยเลยก็ว่าได้ครับ การันตรีจากชื่อที่ติดหูอย่าง “สองเจ โบคู่” หรือ 2JZ-GTE ด้วยการิดตั้งแบบคล้ายๆ กับแบบ Parallel แต่การทำงานจะแตกต่างออกไปด้วยการทำงานที่เป็นลำดับ เริ่มจากเทอร์โบตัวแรกจะเริ่มทำงานในรอบต่ำ เนื่องจากในรอบต่ำนั้น ไอเสียที่เข้ามาปั่นใบพัด ยังไม่มากพอที่จะไปปั่นทั้งคู่ ทำให้ต้องมีการติดตั้ง Sequential Valve ที่ท่อร่วมไอเสีย เพื่อไม่ให้ไปเสียเข้าไปยังเทอร์โบอีกตัวนั่นเองครับ แต่เมื่อเครื่องยนต์ทำงานในรอบสูง Sequential Valve จะถูกเปิดออก เพื่อให้ไอเสียเข้าไปปั่นเทอร์โบทั้งสองตัว เพื่อช่วยกันปั่นไอดีเข้าสู่ห้องเผาไหม้

 

 

           เอาล่ะครับ...เป็นอย่างไรบ้าง กับความรู้เล็กๆ น้อยเกี่ยวกับรูปแบบของเทอร์โบคู่ ที่ทางทีมงานนำมาฝาก หวังว่าจะเป็นประโชน์กับเพื่อนๆ ทีกำลังสงสัยการทำงานของมันนะครับ สำหรับครั้งนี้ ต้องลากันไปแล้ว...สวัสดีครับ

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook