หมวกกันน็อคแบบเต็มใบ
|
หมวกกันน็อคแบบเปิดหน้า
|
หากแฟน Boxzaracing.com คนไหนยังพอจำได้ในครั้งก่อนผมได้เขียนเกี่ยวกับชุดแข่งรถกันไฟไปแล้ว คราวนี้เลยจะยกอุปกรณ์ป้องกันอันตราย สำหรับนักแข่งที่ต้องใช้ในการแข่งขัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เราๆ ท่านๆ ได้เห็นกันตามงานสนามแข่งประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Circuit, Drift, Drag, Rally, Gymkhana แม้กระทั่ง รถสูตร1 หรือ F1 เป็นสิ่งที่ป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในการแข่งขัน หลายๆ ครั้งที่เกิดอุบัติเหตุเจ้านี่แหละครับที่ช่วยนักแข่งไว้หลายๆ ครั้ง ผ่อนหนักให้เป็นเบาเรากำลังพูดถึง หมวกกันน็อค หรือ Helmets อยู่นั่นเองครับ หากแต่หมวกกันน็อคที่เรากำลังจะพูดถึงอยู่นั้นเป็นหมวกกันน็อคที่ใช้ในวงการแข่งรถยนต์ ไม่ใช่การแข่งขันมอเตอร์ไซด์ ฉะนั้นจึงค่อนข้างที่จะมีความแตกต่างอยู่พอสมควร ทั้งรูปทรงที่ไม่ได้เน้น Aerodynamic (ยกเว้น F1 & Go Kart), ทัศนะวิสัยในการมองนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิงครับสำหรับประเภทของหมวกกันน็อคที่ใช้ในการแข่งขันรถยนต์นั้นจะแบ่งเป็น 2 แบบหลักๆ โดยแบ่งตามรูปแบบของหมวกกันน็อค
แบบแรกคือ Full Face แบบเต็มใบซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเต็มใบป้องกันตั้งแต่คาง, ใบหน้า, จมูกและกกหู ข้อดีของหมวกกันน็อคแบบนี้ป้องกันได้ทั้งศีรษะ เพราะมีนวมซับแรงกระแทกอยู่ด้านในจึงลดอาการบาดเจ็บบริเวณศีรษะได้เยอะ แต่ด้วยความที่เป็นหมวกกันน็อคแบบเต็มใบ ทำให้มุมมองทัศนะวิสัยแคบลง ส่วนอีกแบบเป็นแบบ Open face เปิดหน้า ก็จะป้องกันแค่ กกหู หมวกกันน็อกแบบนี้มักจะพบในการแข่งทางเรียบ และแรลลี่จะให้มุมมองที่กว้างกว่าแบบเต็มใบ ซึ่งทั้งสองแบบก็มีทั้งจุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกันออกไป
มาพูดถึง Shell หรือ วัสดุที่นำมาทำหมวกกันน็อคก็มีหลากหลายประเภท ตั้งแต่วัสดุที่ทำจากพลาสติกธรรมดาทั่วไป จนถึงหมวกกันน็อคที่ทำจาก คาร์บอนไฟเบอร์
มาตรฐานของหมวกกันน็อคที่มารองรับนั้นก็มาจาก FIA (Fédération Internationale de l'Automobile หรือ สมาพันธ์รถยนต์นานาชาติ) เป็นผู้รับรองครับซึ่ง FIA จะเป็นผู้ออกกฎเรื่องความปลอดภัยซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยการแข่งรายการใหญ่ๆ ทั่วโลก มาเข้าเรื่องหมวกกันน็อคกันต่อครับคราวนี้ผมจะยกตัวอย่างที่ FIA ได้วางกฎไว้ ซึ่งเป็นกฎที่ออกมาสำหรับปี 2010 สำหรับการแข่งขัน WRC หมวกกันน็อคแบบเปิดหน้า ต้องทนไฟได้ถึง 800 องศาเซลเซียส ได้นาน 30 วินาที ซึ่งภายในหมวกต้องรักษาอุณหภูมิไว้ที่ 70 องศาเซลเซียส โฟมที่บุข้างในหมวกก็ต้องซับแรงกระแทกเอาไว้ส่วนหนึ่ง Shield หมวกหรือกระจกหน้าหมวกก็ต้องทนต้องแรงกระแทกและวัสดุที่พุ่งเข้ามาด้วยความเร็วสูง ควบคุมน้ำหนักอยู่ที่ 1,200 กรัม (เสริมเล็กๆ น้อยๆ ครับ หมวกบางรุ่นมีออฟชั่นเสริมเช่น มีช่องดูดน้ำเผื่อการแข่งขันบางรายการจะต้องใช้เวลาในการแข่งนาน อย่างการแข่ง Endurance หรือ Le mans 24 Hrs. ที่ต้องวิ่งอย่างต่อเนื่องนักแข่งจะต้องวิ่งอย่างน้อยคนละ 1 ชั่วโมง หากจะใช้หมวกกันน็อคให้เต็มประสิทธิภาพควรใส่หน้ากากกันไฟ (ที่คนไทยเรียกว่าไอ้โม่งนั่นแหละครับ) ก่อนสวมหมวกกันน็อคเพราะหน้ากากกันไฟช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการถูกไฟลวกได้ในระดับหนึ่งครับ)
นอกจากหมวกกันน็อคที่เป็นอุปกรณ์กันกระแทกศีรษะแล้ว เนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุเข็มขัดนิรภัย เป็นสิ่งเดียวที่ยึดตัวนึกแข่งไว้กับตัวเบาะแต่ศีรษะของนักแข่งไร้จุดยึด หากเกิดการชนขึ้นด้านหน้าศีรษะจะพุ่งไปด้านหน้าตามแรงเฉื่อยทำให้กระดูกคอเคลื่อนอาจจะเป็นเหตุให้บาดเจ็บ หรือไม่ก็ถึงขั้นพิการ ดังนั้นจึงมีการพัฒนาอุปกรณ์ส่วนควบที่ใช้กับหมวกกันน็อคนั่นก็คือ Hans หรือ Harness ลักษณะทั่วไปนั้นก็ใช้สวมเข้าด้านหลังคอจะมีจุดคล้องสองจุดเพื่อยึดกับหมวกกันน็อคเมื่อนักแข่งใส่ Hans และสวมหมวกกันน็อคเป็นที่เรียบร้อยก็จะทับ Hans ด้วย Belt เมื่อเกิดอุบัติเหตุ Hans จะช่วยรั้งศีรษะไม่ให้เคลื่อนไปด้านข้างลดอาการบาดเจ็บลงไปได้เยอะครับแล้ววิธีเลือก Hans นั้นก็จะแตกต่างตามรูปแบบการแข่งเช่น แรลลี่จะมีองศาของ Hans อยู่ที่ 10 องศา ส่วนประเภท GT หรือ Saloons อยู่ที่ 20 องศาเป็นต้น
วิธีวัดขนาดของหมวกกันน็อคนำสายวัดมาวัดรอบศีรษะเหนือคิ้วประมาณ 2 นิ้วแล้วเทียบขนาดตามแต่ยี่ห้อกำหนดเมื่อทดลองใส่แล้วจะต้องบีบศีรษะเพียงเล็กน้อยหากใส่แล้วหลวม มีวิธีทดสอบคือสวมหมวกแล้วจับหมวกหมุนซ้าย-ขวาเบาๆ นะครับ (เดี๋ยวคอหลุด) และขยับหมวกก้มเงยหากขยับหมวกแล้วศีรษะหมุนตามแสดงว่าหมวกเบอร์นั้นใส่กับศีรษะเราได้พอดีในทางกลับกันถ้าใส่ทั้งหลวมๆ คลอนๆ หมุนศีรษะแต่หมวกไม่หันตาม ก็นึกภาพตามนะครับ รถกำลังลอยเนื่องการกระโดดข้ามเนิน จู่ๆ หมวกเจ้ากรรมดันเลื่อนมาปิดตาอย่างกระทันหันหากเกิดกับการแข่งที่รถไม่เยอะก็ไม่เท่าไรหากเป็นการแข่งเซอร์กิต (Circuit) หรือการแข่งที่รถต้องวิ่งวนรอบ คราวนี้เรียกได้ว่างานเข้าครับ ถ้าโชคดีรถอาจจะไถลออกนอกไลน์ไม่ก็เสียอาการเล็กน้อย หรือถ้าโชคร้ายก็หมุนไปขวางไลน์คันอื่น ก็เกิดอุบัติเหตุได้ ฉะนั้นไม่ควรมองข้ามจุดเล็กๆ อย่างการเลือกไซส์หมวกนะครับ
ตัวอย่างเทียบขนาดจากหมวกยี่ห้อ Simpson
กีฬาความเร็วอย่างมอเตอร์สปอร์ตนั้นเป็นกีฬาที่อยู่บนความเสี่ยงสูงเพราะความเร็วของตัวรถปะทะกับวัตถุที่อยู่นิ่งจะเกิดอันตรายอย่างมากฉะนั้นการเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ขับนั้นถือเป็นความปลอดภัยอันดับต้นๆ เลยทีเดียวดังนั้นหากเพื่อนๆ ชาว Boxzaracing.com คนใดสนที่จะลงแข่งรถซักรุ่นหนึ่ง ความปลอดภัยของตัวเองราคาระดับหมื่นก็ซื้อเถอะครับเมื่อหักลบกันแล้ว เมื่อต้องรักษาตัวในยามที่เกิดอุบัติเหตุถือว่าคุ้มครับ