เบรคแดงๆแบบนี้ที่เขาเรียกว่า Break Fade
สวัสดีครับเพื่อนๆชาว BoxzaRacing วันนี้เราจะพาเพื่อนๆมารู้จักกับ สิ่งเล็กๆที่ หลายๆคนมักจะมองข้าม ไม่ได้ใส่ใจมันมากมายแต่หารู้ไม่มันคือสิ่งที่สามาถกำหนดชีวิตของท่านได้เลย...นั่นคือ ระบบเบรคนั่นเองครับ เชื่อว่ามีเพื่อนๆหลายคนมีการเปลี่ยนระบบเบรคใหม่ให้สามารถรองรับ แรงม้าของเครื่องยนต์ได้ แต่มันจะมี จุดเล็กๆที่ ไม่ว่ารถแรง รถเบาเปลี่ยนไปแล้ว จะสามารถเห็นผลได้อย่างทันตา นั่นคือจานเบรคนั่นเองครับ ยอมรับครับตัวกระผมเองก็ไม่ได้ขับรถแรงอะไรมากมาย จึงไม่ได้อัพเกรดระบบเบรคมากนัก แต่หลังจากที่ได้อัพเกรดระบบ จานเบรคดูแล้ว มันสามารถรู้สึกได้จริงๆ วันนี้จึงอยากจะมาพาเพื่อนๆไปรู้จักจานเบรคกันครับ
หน้าตาของจานเบรคแบบมารฐาน
ถ้าเพื่อนเคยเห็นเหล่ารถแต่ง รถซิ่ง ที่มีการอัพเกรดระบบเบรคแล้ว หรือแม้กระทั่ง SuperCar ที่ตัวของจานเบรคเองนั้น มักจะมีรูๆ หรือเป็นร่องๆ นั่นมีใว้ทำอะไร เรามาหาคำตอบไปพร้อมกันเลยครับโดยที่จานเบรคนั้นจะแบบออกได้ 4 แบบหลักๆคือ แบบเรียบ, แบบเจาะรู, แบบเซาะร่อง และแบบรวมมิตร เจาะรูสลับเซาะร่อง เราค่อยๆมาทำความรู้จักแต่ละแบบกันเลยครับ
แบบเรียบ [Smooth Break Rotor]
โดยที่แบบเรียบนี้เราสามารถพบเห็นได้อย่างแพร่หลายไม่ว่าจะในรถบ้านทั่วไป แม้กระทั่ง รถ Supercars บางคันก็มีแถมมาให้จากโรงงานกันอีกด้วย ด้วยเหตุผลที่ว่าจานแบบเรียบนั้น เป็นจานที่สามารถทนต่อแรงเค้นได้ดีที่สุดและทนที่สุด ทำให้เจ้าจานเบรคแบบเรียบๆง่ายๆนี้ค่อนข้างได้รับความนิยมอยู่พอตัวเลยครับ แต่จะว่าไปเจ้าจานเบรคแบบเรียบนั้นก็มีข้อเสียอยู่บ้าง นั่นคือ การระบายความร้อนที่ดูเหมือนว่าจะทำได้ไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับ แบบเจาะรูหรือเซาะร่องแล้ว จึงทำให้หากรถคันไหนใช้งานจานเบรคแบบเรียบ จำเป็นที่จะต้องใช้งาน ผ้าเบรคและน้ำมันเบรคที่คุณภาพค่อนข้างสูงเพื่อให้ทนความร้อนได้นั่นเองครับ นอกจากนี้จานเบรคแบบเรียบนั้น ยังมีปัญหาเรื่องฝุ่นอีกด้วยเช่น แร่ใยหินแอสเบสตอส หากเพื่อนๆคนไหนใช้งานจานแบบนี้อยู่จะสังเกตได้ว่าหากใช้งานไปนานๆแล้วจะต้องออกแรงกดมากขึ้น เพราะว่าจะมีฝุ่นเข้าไปเกาะที่ผ้าเบรคนั่นเองครับ และข้อเสียที่เด่นชัดอีกหนึ่งอย่างคือเจ้าจานเเบบเรียบนั้นไม่ค่อยถูกกับน้ำเสียเท่าไหร่เพราะว่าหากมีการลุยน้ำแล้วล่ะก็ จะเกิดแผนฟิล์มบางๆที่จานเบรคทำให้ประสิทธิภาพลดลงไปเยอะครับ
แบบเจาะรู [Drill Break Rotor]
จานแบบนี้มันมีประวัติความเป็นมานิดหน่อย เริ่มจากรถแข่งในสมัยก่อนนั้น วัสดุที่จะนำมาทำจานเบรคนั้นก็หาได้ไม่ง่ายเหมือนสมัยนี้รวมไปถึงเรื่องคุณภาพอีกด้วย ทำให้เวลาเบรคนั้นจะเกิดฝุ่นเบรคค่อนข้างมาก รวมไปถึงก๊าซบางชนิดที่ไปเกาะติดยู่กับตัวจาน จึงคิดค้นวิธีการแก้ไข เพื่อไล่ก๊าซที่ว่านี้และฝุ่นออกไปจากจานเบรค จึงทำให้เกิดเจาะรูเกิดขึ้น เนื่องจากใช้งบประมาณไม่มาก และทำได้ง่ายนั่นเองครับ ต่อมาในภายหลังพบว่าการเจาะรูนั้นสามารถทำให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาอีกด้วย ทำให้มีการผลิตจานเจาะขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจานแบบนี้จะเห็นได้บ่อยมากๆในรถที่อัพเกรดระบบเบรคแล้ว เพราะว่าเจ้าจานเจาะนั้นอย่างที่บอกไปว่าสามารถระบายความร้อนได้อย่างรวดเร็วมาก ช่วยให้ลดโอกาสการเกิดอาการเบรคไม่อยู่ หรือที่สากลเรียกกันว่า Break Fade นั่นเอง ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อจานเบรคร้อนจัด จนไม่สามารถสร้างแรงกด และแรงเฉื่อยได้อีกต่อไปนั่นเองครับ แต่ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีเสมอไป เพราะว่าจานแบบเจาะก็มีจุดอ่อนในเรื่องของการแตกร้าว หรือที่เรียกกันว่า Thermal Cracking เกิดขึ้นเมื่อจานเบรคนั้นมีอุณหภูมิที่สูง แต่กลับกันในรูนั้นอุณภูมิที่ต่ำกว่าทำให้จานเบรคมีการผิดรูปจนกระทั่งร้าวในที่สุด ยังไงซะเรื่องแต่นี้ก็ไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไร เพราะว่าค่ายรถหลายๆค่ายเลือกที่จะใช้วัสดุที่ดีขึ้น ทำให้จุดด้อยนี้ ไม่ใช่เรื่องนี่น่าตกใจอะไร
แบบเซาะร่อง [Slotted Break Rotor]
สำหรับจานแบบเซาะร่องนั้น ได้รับความนิยมอย่างมากในวงการรถซิ่ง เนื่องจากเป็นจานที่ ลบข้อด้อยของจานแบบเจาะที่มีโอกาสเกิด Thermal Cracking ลงไปได้อย่างหมดจด ด้วยการเซาะร่องตามเนื้อจานเบรค ส่งผลให้เรื่องการระบายความร้อนเป็นไปได้อย่างรวดเร็วเหมือนแบบเจาะ รวมไปถึงเรื่องฝุ่นอีกด้วยเรียกได้ว่าสามารถกลบจุดด้อยของจานเบรคแบบเดิมๆออกไปจนหมด นอกจากนี้ยังได้ของดีแถมมาอีกเล็กๆน้อยๆคือ ประสิทธิภาพการเบรคนั้นดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาเพราะว่า การที่เซาะร่องนั้นทำให้ เพิ่มแรงเสียดทานระหว่างผ้าเบรคกับจานทำให้ประสิทธิภาพการเบรคเพิ่มมากขึ้นนั่นเองครับ แต่แน่นอนครับต้องแลกมากับผ้าเบรคที่หมดเร็วกว่าปกตินั่นเองครับ
จานแบบเจาะ+เซาะร่อง [Drill and Slotted Break Rotor]
เพื่อนๆคงคิดว่าแบบนี้มันต้องรวมเอาข้อดีของแบบเจาะ กับแบบเซาะร่องเอาไว้อย่างแน่นนอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบายความร้อนอย่างดี หรือ ประสิทธิภาพการเบรค ใช่ไหมล่ะครับ คำตอบคือ..ผิดถนัดครับ ถึงแม้เจ้าจานเบรคลูกครึ่งนี้ จะได้รับการยอมรับว่า สามารถขจัดฝุ่นได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว ก็ยังมองไม่เห็นข้อดีอื่นๆอีกเลย เนื่องจาก จานแบบนี้จะเกิด Thermal Cracking ได้ง่ายมากๆ ทำให้จานลูกผสมนี้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แต่ปฏิเสธไม่ได้จริงว่าจานตัวนี้มันหล่อเหลาเอาการเหมือนกันนะครับ
เป็นอย่างไรบ้างครับกับเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆที่ทางเรานำมาฝากกันในวันนี้ หวังว่าจะมีผลในการตัดสินใจและทำให้เพื่อนๆรู้จักจานเบรคมากขึ้นและให้ความสำคัญกับมันบ้างครับ สำหรับครั้งหน้าจะเป็นเกร็ดความรู้เรื่องอะไร อย่าลืมติดตามกันที่ BoxzaRacing นะครับ..