ว่ากันด้วยเรื่องพื้นฐานเครื่องยนต์โดยทั่วไป จะมีองค์ประกอบอยู่หลายๆ ส่วน ซึ่งเพลาลูกเบี้ยวหรือแคมชาฟต์ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ โดยจะหมุนตามรอบเครื่องยนต์เพื่อทำหน้าที่กดวาล์วให้เปิดตามจังหวะที่เชื่อมกับสายพานไทม์มิ่ง และเมื่อหมดระยะลูกเบี้ยวแล้ว สปริงวาล์วจะคอยดีดวาล์วกลับเพื่อให้วาล์วปิด แต่ในปัจจุบัน มีการคิดค้นและพัฒนาเครื่องยนต์แบบใหม่ ที่ไม่ต้องใช้แคมชาฟต์ให้ยุ่งยากแบบที่เคยเป็นมา และให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมด้วย
ภายในประกอบด้วยระบบอิเล็คทรอนิกส์และกลไกแรงดัน
Free Valve เป็นชื่อเรียกเครื่องยนต์ไร้แคมชาฟต์จากผู้ผลิตรถไฮเปอร์คาร์อย่าง Koenigsegg ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ โดยหลักการทำงานก็คือ การใช้ Actuator มาเปิดวาล์วแทนแคมชาฟต์ ซึ่งเจ้าตัวแอคชัวเอเตอร์นี้ มีกลไก คือ นำสัญญาณไฟฟ้าไปเปิดรับแรงอัดอากาศ เพื่อมาดันให้วาล์วเปิด โดยแรงอัดอากาศต้องมากพอที่จะต้านแรงจากสปริงวาล์วที่คอยดันปิด และมีกระเดื่องกั้นคอยปรับระยะวาล์วเปิด (เปิดมาก-น้อย) ซึ่งถูกควบคุมให้คงที่โดยแรงดันน้ำมัน
ภายในของระบบ Actuator ที่ใช้กดสปริงวาล์ว
ข้อดีของระบบนี้ คือ ขนาดเครื่องเล็กลง น้ำหนักเบา ให้ย่านกำลังที่กว้างขึ้น และปรับจูนได้หลากหลาย เพราะมีคล่องตัวของไอดี-ไอเสียสูงกว่าการใช้แคมชาฟต์ และสามารถกำหนดจังหวะวาล์วแปรผันได้หลากหลายกว่าแบบเดิมด้วย ซึ่งผลที่ได้ คือ เครื่องผลิตแรงม้าและแรงบิดมากขึ้น ใน ซีซี. เท่าเดิม ประหยัดน้ำมัน และลดมลภาวะได้ดีกว่าเดิม
ภาพจากคลิป Engineering Explained
สาเหตุที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ตอนนี้ เพราะเนื่องจากยังมีต้นทุนสูง และยังต้องทดสอบอีกระยะหนึ่ง เพื่อปรับใช้กับรถบ้านทั่วไป แต่เราเริ่มเห็นอนาคตกับรถแบรนด์จีนอย่าง Qoros ซึ่งนำเทคโนโลยีนี้มาใส่ในรถคอนเซปต์ที่ใกล้เคียงรุ่นผลิตจริงแล้ว ไม่แน่ว่า...เราอาจจะได้ใช้เทคโนโลยีนี้ ในรถบ้านทั่วไปเร็วกว่าที่คิด โดยทุกท่านสามารถชมคลิปเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบเครื่องไร้แคมชาฟต์ได้ตามด้านล่าง