เขียนโดย: Monster Racing

เมื่อ: 20 มิถุนายน 2559 - 10:59

เคล็ดลับขับขี่อย่างปลอดภัย เมื่อต้องขับขี่ในขณะที่ฝนตกและถนนเปียกลื่น

 

          หลังจากฤดูร้อนที่อบอ้าวและแห้งแล้งผ่านพ้นไป ฤดูฝนเวียนกลับมาอีกครั้งพร้อมความเย็นสบายที่หลายคนชื่นชอบ แต่การขับขี่บนท้องถนนในช่วงหน้าฝนอาจทำให้เกิดสถานการณ์ที่ผู้ขับขี่บางคนอาจคาดไม่ถึง เนื่องจากเราคุ้นชินกับพื้นถนนที่แห้ง และมีการยึดเกาะที่ดีกว่าในช่วงหน้าร้อน ในวันนี้ทาง BoxzaRacing มีเคล็ดลับและเทคนิคการขับขี่อย่างปลอดภัยในสถานการณ์ฝนตก หรือถนนเปียกลื่นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการขับขี่ของ Chevrolet มาแนะนำดังนี้

 

เปิดไฟหน้าช่วยเพิ่มทัศนวิสัยให้เห็นในสภาพแสงน้อย

 

เปิดไฟหน้า

          ไฟหน้าช่วยเพิ่มทัศนวิสัยให้ทั้งตัวคุณ และผู้ขับขี่รถคันอื่นได้มองเห็นในสภาพแสงน้อย ไม่ควรใช้ไฟฉุกเฉิน ยกเว้นเมื่อจอดรถ และต้องการให้รถคันอื่นหลบเลี่ยง ถ้ารถของคุณมีไฟตัดหมอก ควรเปิดใช้งาน

 

รักษาความเร็วที่สามารถควบคุมได้

          ลดความเร็วเมื่อขับขี่บนถนนเปียกลื่น ควรแน่ใจว่าสามารถหยุดรถได้ในระยะที่มองเห็น การลดความเร็วยังช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการรถลอยตัวหรือเหินน้ำ

 

การขับขี่บนถนนที่มีน้ำท่วมขัง

          ควรหลีกเลี่ยงการขับรถผ่านถนนที่มองไม่เห็น หรือไม่สามารถเดินผ่านได้ หรือถนนที่มีน้ำท่วมขังสูงกว่ากึ่งกลางของล้อรถ สำหรับรถเอสยูวีและรถกระบะขนาดใหญ่ สามารถแล่นผ่านถนนที่มีน้ำท่วมสูงได้ แต่ควรตรวจสอบว่ารถของคุณสามารถขับขี่ผ่านระดับน้ำได้สูงเท่าใด น้ำท่วมขังจะบดบังสิ่งที่อยู่ด้านล่าง ดังนั้นถ้าคุณต้องขับบนถนนที่มีน้ำท่วมขังเป็นทางยาว ควรแน่ใจว่า คุณขับอยู่บนถนนและถนนไม่มีความเสียหายใดๆ หรือถนนขาด ขณะเดียวกัน ควรเพิ่มความระมัดระวังเมื่อขับขี่บนถนนที่ไม่คุ้นเคยเนื่องจากอาจมีหลุมที่ลึกเกินกว่าที่รถจะผ่านไปได้ ผู้ขับขี่สามารถจอดรถก่อนถึงบริเวณที่มีน้ำท่วมขังและสังเกตรถคันอื่นว่าสามารถขับผ่านไปได้อย่างปลอดภัยหรือไม่

 

ใช้เกียร์ต่ำในการขับลุยน้ำที่ท่วมขัง

 

          ถ้าต้องขับผ่านถนนน้ำท่วมขัง ควรขับรถบนกึ่งกลางหรือใกล้กับกึ่งกลางของถนน เนื่องจากระดับน้ำจะต่ำที่สุด ใช้เกียร์ต่ำและรอบเครื่องยนต์สูง ใช้ “เกียร์ 1” สำหรับเกียร์ธรรมดา หรือ “เกียร์ L” สำหรับเกียร์อัตโนมัติ ควรรักษาความเร็วให้คงที่และไม่เร่งอย่างรุนแรงเกินไป การลดพละกำลังของเครื่องยนต์อาจทำให้น้ำทะลักเข้าสู่ท่อไอเสีย และทำให้แคททาไลติกคอนเวอร์เตอร์เสียหาย ควรระมัดระวัง ไม่ให้น้ำเข้าสู่กรองอากาศด้านหน้าด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรขับด้วยความเร็วต่ำมาก เนื่องจากถ้าน้ำเข้าท่อไอเสีย หรือกรองอากาศด้านหน้าจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก

 

ควรขับรถเข้าสู่บริเวณน้ำท่วมด้วยความเร็วไม่เกิน 3 กม./ชม. และเพิ่มความเร็วเป็น 6 กม./ชม. เมื่อต้องขับผ่านน้ำท่วม

 

          ควรขับรถเข้าสู่บริเวณน้ำท่วมด้วยความเร็วไม่เกิน 3 กม./ชม. และเพิ่มความเร็วเป็น 6 กม./ชม. เมื่อต้องขับผ่านน้ำท่วม ซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นน้ำด้านหน้า และลดระดับน้ำโดยรอบห้องเครื่องยนต์ลง ช่วยลดความเสี่ยงที่น้ำจะไหลเข้าสู่ที่กรองอากาศ และสร้างความเสียหายต่อระบบไฟฟ้า รวมถึงชิ้นส่วนต่างๆ หากใช้ความเร็วมากกว่านี้ จะทำให้น้ำไหลผ่านกระจังหน้าเข้าสู่ห้องเครื่องยนต์ได้

          ควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าพอสมควรหรือขับรถผ่านบริเวณที่มีน้ำท่วมขังทีละคันเพื่อป้องกันการหยุดรถกลางทาง หากรถคันหน้าชะลอความเร็ว ควรระมัดระวังว่าไม่มีรถที่ขับมาจากเส้นทางอื่นเนื่องจากคลื่นของน้ำอาจท่วมรถได้ โดยเฉพาะถ้ารถคันอื่นใช้ความเร็วสูงเกินไป

          เมื่อขับรถออกจากบริเวณที่มีน้ำท่วม ควรย้ำเบรกอย่างนุ่มนวลเป็นระยะ หากผู้ขับขี่มีทักษะสามารถใช้เท้าซ้ายเหยียบเบรกได้ เมื่อรู้สึกว่าเบรกจับตัวแล้ว ให้กลับมาขับตามปกติ ควรตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเศษขยะอย่างถุงพลาสติก หรือสิ่งสกปรกอื่นๆ ติดอยู่ที่กระจังหน้าหรือหม้อน้ำ

          เมื่อต้องขับผ่านถนนที่มีน้ำท่วมขัง ควรตระหนักว่าระดับน้ำที่สูง 15 ซม. จะถึงระดับใต้ท้องรถ และรถส่วนใหญ่จะเริ่มลอยน้ำในระดับน้ำที่สูง 30 ซม. ขณะที่ระดับน้ำ 60 ซม. จะพัดพารถทุกประเภทแม้กระทั่งรถอเนกประสงค์เอสยูวี ถึงแม้น้ำจะไหลไม่แรง แต่แรงกระทำ และปริมาณน้ำก็จะพัดพาตัวรถไปได้ ดังนั้นจึงไม่ควรเสี่ยงอย่างเด็ดขาด

 

ควรปิดแอร์และเปิดกระจกหน้าต่าง

 

ปิดแอร์

          ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรปิดแอร์และเปิดหน้าต่าง การขับขี่บนถนนที่มีน้ำท่วมขังขณะเปิดแอร์อาจทำให้เครื่องยนต์ดับ เนื่องจากพัดลมจะทำงาน และทำให้น้ำเข้าสู่เครื่องยนต์ ถ้าเครื่องยนต์ไม่ดับ พัดลมก็จะหมุนรับเศษขยะที่ลอยมาตามน้ำ ซึ่งจะทำให้พัดลมเสียหายได้ นำไปสู่ปัญหาความร้อนของเครื่องยนต์ที่สูงเกินไป

 

ขับอย่างนุ่มนวล และใช้ความเร็วต่ำ

 

ขับอย่างนุ่มนวล

          ขับขี่ด้วยความนุ่มนวลและหลีกเลี่ยงการเบรกหรือหักเลี้ยวกะทันหัน ซึ่งอาจจะทำให้ตัวรถสูญเสียการควบคุม ควรเบรกก่อนเข้าโค้ง และเร่งออกอย่างนุ่มนวล

          ควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าพอสมควรเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำกระเซ็นซึ่งจะทำให้ทัศนวิสัยลดลง โดยเฉพาะเมื่อต้องขับตามหลังรถคันใหญ่ ถ้าเป็นไปได้ ควรขับตามรอยยางรถคันหน้าเนื่องจากระดับน้ำจะน้อยกว่าส่วนอื่นของถนน

          ควรเพิ่มความระมัดระวังอย่างมากถ้าฝนตกหลังจากถนนแห้งมานาน โดยเฉพาะเมื่อฝนตกลงมาไม่มากนัก เนื่องจากขณะถนนแห้งจะมีคราบน้ำมัน (จากท่อไอเสีย น้ำมันรั่วไหลจากรถคันอื่น และอื่นๆ) เคลือบอยู่บนพื้นผิวถนน น้ำฝนที่ตกลงมาไม่มากนักจะชะล้างคราบน้ำมันบนพื้นผิวถนน (น้ำมันมีน้ำหนักเบากว่าน้ำ) ทำให้เกิดความลื่น ซึ่งในบางกรณีอาจลื่นเหมือนพื้นน้ำแข็งจึงอันตรายอย่างมาก คราบน้ำมันดังกล่าวจะถูกชะล้างออกไปได้ต่อเมื่อฝนตกหนักเป็นเวลานาน

 

อาการลอยตัวหรือเหินน้ำเกิดขึ้นเมื่อยางรถไม่สามารถรีดน้ำระหว่างยางและพื้นผิวถนนออกได้

 

ข้อควรรู้เกี่ยวกับอาการลอยตัวหรือเหินน้ำ

          อาการลอยตัวหรือเหินน้ำเกิดขึ้นเมื่อยางรถไม่สามารถรีดน้ำระหว่างยางและพื้นผิวถนนออกได้ ซึ่งทำให้ยางใดยางหนึ่ง หรือเกือบทั้งหมดเกิดอาการ “ลอย” บนพื้นผิวน้ำ ซึ่งทำให้ยาง และตัวรถลื่นไถล

 

การเหินน้ำเกิดขึ้นเมื่อ

- ยางชำรุดและดอกยางตื้นเกินไปที่จะรีดน้ำออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- ขับด้วยความเร็วสูงเกินไปจนดอกยางไม่สามารถรีดน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

- มีน้ำขังบนถนนมากเกินกว่าประสิทธิภาพของดอกยาง

 

ควรตรวจเช็คสภาพยาง หรือดอกยางก่อนออกเดินทาง

 

อาการเหินน้ำเป็นอย่างไร และควรทำอย่างไรเมื่อเกิดอาการเหินน้ำ

- พวงมาลัยมีน้ำหนักเบากะทันหัน และรถไม่ตอบสนองต่อการควบคุมพวงมาลัย

- รอบเครื่องยนต์จะเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างกะทันหันในขณะที่ความเร็วรถไม่เพิ่มขึ้น โดยอาการนี้จะมาพร้อมกับการกระตุก (เนื่องจากยางสูญเสียการยึดเกาะชั่วขณะ) ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ายางรถของคุณเริ่มสูญเสียการควบคุม

- ควรลดความเร็วลงด้วยการผ่อนคันเร่ง แต่ไม่ควรถอนคันเร่งทั้งหมด รอให้ความเร็วลดลงและให้ยางยึดเกาะถนนอีกครั้ง

- ไม่ควรเบรก

- ไม่ควรใช้ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติหรือครูสคอนโทรล

- ถ้าหากรถเริ่มลื่นไถล ผู้ขับขี่ควรควบคุมพวงมาลัยไปในทิศทางที่ต้องการให้รถมุ่งไปจนกว่ารถจะกลับคืนสู่สภาวะปกติ ไม่ควรเบรก ไม่ควรลดความเร็ว และควรเหยียบคันเร่งด้วยน้ำหนักเบาที่คงที่สม่ำเสมอ

- การควบคุมด้วยความนุ่มนวลมีความสำคัญ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : Chevrolet

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook