รถยกสูงแบ่งได้กี่ประเภท..รูปแบบการเซ็ตช่วงล่าง แต่ละสไตล์มีลักษณะการทำงานเป็นอย่างไร ?
หลายท่านอาจเคยพบเจอรถกระบะออฟโรดที่ถูกยกสูงใส่ยางไซส์บิ๊ก จนเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า มันสามารถวิ่งได้จริงหรือเปล่า ? แล้วมันมีหลักการยกสูงยังไงกันแน่ ? ซึ่งในปัจจุบันกระแสนิยมรถยกสูงก็ดูเหมือนว่าจะมีมากขึ้นทุกวัน แต่หลักการยกสูงมันมีรายละเอียดปลีกย่อยอะไรบ้างนั้น วันนี้ทางทีมงาน Boxzaracing.com มีข้อมูลรายละเอียดการยกสูงแบบคร่าวๆ มานำเสนอครับ
หลักการยกสูงแบ่งได้หลักๆ 2 ประเภท
ยกสูงด้วยชุดยกสำเร็จรูป หลักการทำงานของวิธีนี้ก็คือ สวมชุดยกสำเร็จรูปเข้ากับระบบช่วงล่างเดิม โดยส่วนของชุดยกสำเร็จรูปก็จะมีอุปกรณ์ต่างๆ ให้มาอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของคานเหล็กดร็อปปีกนกล่าง, ทอร์คอาร์ม, คอม้า และก้อนเหล็กรองชุดแหนบหลัง ซึ่งข้อดีของการยกสูงด้วยชุดยกสำเร็จรูปก็คือ ติดตั้งง่าย องศาของมุมเลี้ยวไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมมากนัก และราคาการติดตั้งไม่สูง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความสูงที่ถูกจำกัด ซึ่งชุดยกสำเร็จรูปส่วนใหญ่จะผลิตออกมาที่ระดับความสูง 4-10 นิ้ว ในปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมกันอย่างมาก สำหรับผู้ที่ต้องการอัพเกรดความสูงของรถกระบะคู่ใจให้ดูเท่ และสามารถวิ่งใช้งานในเมืองได้อย่างคล่องตัว
รูปแบบต่อมา คือ ยกสูงด้วยการวางคาน วิธีนี้จะนิยมกันอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องการตกแต่งไว้ท่องเที่ยว หรือเดินทางในเส้นทางที่เหนือจินตนาการ และตกแต่งไว้เพื่อการแข่งขันออฟโรดโดยเฉพาะ ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการนำคานแข็งของรถอเนกประสงค์รุ่นใหญ่ อาทิ TOYOTA LAND CRUISER VX80, NISSAN SAFARI ฯลฯ มาทำการดัดแปลง และติดตั้งแทนที่ระบบช่วงล่างเดิมของตัวรถ พร้อมทั้งตั้งจุดยึด จุดหมุน และองศาของมุมเลี้ยวใหม่ทั้งหมด ข้อดีของการยกสูงด้วยวิธีการวางคานก็คือ มีความแข็งแกร่ง และสามารถเลือกระดับความสูงของตัวรถได้อย่างอิสระจากการเลือกใช้โช้คอัพ และขนาดของยาง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างสูง และการขับขี่ที่นิ่มนวลน้อยลง