ในขณะที่เราขับรถมาด้วยความเร็วสูงแล้วจำเป็นที่จะต้องเบรคกระทันหันนั้น เราอาจจะต้องใช้ Tactic ดึงเบรคมือช่วย หรือ E-Brake (Emergency Brake) แต่พอมาลองดึงเล่นอยู่หลายรอบแล้ว มันไม่ค่อยจะได้ผลเท่าไหร่ เลยทำให้เกิดไอเดียบรรเจิดที่อยากจะตั้งเบรคมือให้มันแข็งๆ ดึงแล้วทุกคนหันมองพร้อมกับเสียง เอี๊ยด
ความจริงวิธีการตั้งเบรคมือนั้นมันก็ไม่ได้ยากอะไรมากมาย แต่ถ้าพูดถึงคนธรรมดาที่ไม่ใช่ช่างซ่อมรถ หรือไม่ค่อยมีความรู้เรื่องรถซักเท่าไหร่นัก ก็คงจะค่อนข้างยากเอาเรื่องพอสมควร เพราะการตั้งเบรคมือนี้ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งแม่แรงเพื่อยกรถ ให้ลอยเหนือพื้น, บล็อกขันล้อ ที่เอาไว้ถอดล้อออกจากดุมล้อ, ชุดประแจ และท้ายสุดที่สำคัญ คงไม่พ้นหยาดเหงื่อและแรงกาย ที่ว่าง่ายๆ คือถ้าไม่ใช่ช่างก็มีเฮแน่ๆ คราวนี้ถ้าได้อุปกรณ์กันครบแล้วก็เริ่มลงมือได้เลย
เริ่มขั้นตอนการตั้งเบรคมือกันเลยดีกว่าครับ กับขั้นแรก ที่เราต้องเข้าใจก่อนว่า รถของเราเป็นแพลทฟอร์มแบบไหน จะได้หาจุดที่เป็นตัวปรับตั้งเบรคฉุกเฉินได้ถูก ซึ่งปกติถ้าเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง (FR) ชุดเบรคมือจะถูกบรรจุไว้ในดุมจานเบรคของล้อหลัง ส่วนรถขับเคลื่อนล้อหน้ามักจะใช้คาลิปเปอร์เบรคหน้า ช่วยในการจับ แต่สำหรับในวันนี้เราจะมาพูดถึงเป็นรถประเภทขับเคลื่อนล้อหลังก่อนแล้วกัน
1. ก่อนอื่นเลย เราต้องนำรถขึ้นแม่แรง เพื่อให้รถลอยเหนือพื้น แม่แรงที่เห็นในรูปอาจจะเป็นแม่แรงตัวใหญ่ทำให้ยกล้อได้อย่างสบาย ด้วยการสวมกับเฟืองท้าย แต่ถ้าเพื่อนๆ คนใด ทำเอง ที่บ้าน ก็ใช้แม่แรงที่มีมาให้กับรถ ยกล้อทีละข้างก็ได้ครับ (แต่ต้องจำตำแหน่งที่เราตั้งเบรคให้ได้นะ โดยอาศัยความรู้สึก จากความหนืด)
2. เมื่อยกล้อให้ลอยจากพื้นได้เป็นผลสำเร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ การถอดล้อออกจากดุมล้อ ในการนี้ให้เพื่อนๆ ไปคว้า บล็อกขันน็อต หรือ กากบาทขันล้อ แล้วจึงบรรจงเสียบบล็อกเข้าไปยังน็อตล้อ ขันทวนเข็มนาฬิกา เพื่อคลายน๊อตออก ซึ่งตรงนี้ถ้าใครเจออุปสรรคประมาณว่า น็อตล้อมันแน่นมากๆ ให้หาท่อแป๊ป มาช่วยผ่อนแรงจะทำให้ไขออกง่ายมากขึ้น
3. หลังจากที่ล้อถูกปลดออกมาแล้ว ก็ขอให้เก็บน๊อตล้อไว้ให้ดีๆ อย่าให้หาย จากนั้นเราก็พุ่งเป้าที่ชุดเบรค ซึ่งประกอบด้วย คาลิปเปอร์ และชุดจานเบรค ตรงนี้ขอให้เพื่อนๆ ระวังมาก ๆ เพราะ ถ้าใครพึ่งไปซิ่งแล้วกลับมาทำตามขั้นตอนที่เรากล่าวนี้ ก็ขอให้หาถุงมืออะไรก็ได้มาใส่ เพื่อป้องกันความร้อนจากจานเบรคที่เพียงพอจะทำให้นิ้วพองได้ หรือทางที่ดีปล่อยไว้สักพักก่อนจะเริ่มงานดีกว่าครับ ในขั้นตอนนี้เราต้องทำการถอดชุดคาลิปเปอร์ ออกจากจานเบรค โดยการขันน๊อตที่ยึดติดบริเวณใกล้เคียงออก ปกติน๊อตจะมีประมาณ 2 ตัว หรือมากกว่านั้น ตามแต่วิศวกรรมของรถแต่ละยี่ห้อ แต่สิ่งที่เราต้องทำก็คือ คลายมันออก ก่อนจะค่อยๆ ขยับคาลิปเปอร์ออกตามไป ตรงนี้ถ้ารถใครนำคาลิปเปอร์ออกยากๆ ให้สันนิษฐานว่าอาจจะมีอาการจานเบรกคด ซึ่งสามารถแก้ได้ โดยไปให้ช่างเจียรจานเบรคให้ในภายหลัง
4. เมื่อถอดออกมาได้เรียบร้อยแล้ว เราก็ได้เวลาถอดจานเบรคออกตามลูกพี่มันมา การถอดเจ้าจานเบรคนี้ค่อนข้างจะง่ายครับ ให้เพื่อนๆ สังเกตที่ดุมล้อว่าจุดใดที่พอจะให้เราแคะแกะเกาได้บ้าง จุดนั้นแหละครับ จัดการเอาบล็อกหกเหลี่ยมคลายมันออกมา จานเบรคก็หลุดออกมาในทันที
5. สิ่งที่อยู่ตรงหน้าเพื่อนๆ ตรงนี้ ที่เห็นก็คือ ชุดดุมล้อ พร้อมจุดตั้งเบรคมือ เจ้าจุดตั้งที่ว่านี้มันจะเป็นเหมือนสลัก ที่ถ้าสังเกตดีๆ เราจะเห็นว่าสามารถใช้ไขควงปากแบนหมุนมันได้ ตรงนี้ให้เพื่อนๆ ลองหมุนล้อดูก่อนว่า มันจังหวะการหมุนฟรีอยู่เท่ามากน้อยแค่ไหน จากนั้นก็ค่อยๆ ใช้ไขควงหมุนสลัก แล้วลองหมุนล้อดูอีกที ว่าพอใจหรือไม่ ถ้าไม่พอใจก็ตั้งต่อไปเรื่อย จนกว่าคิดว่าพอแล้ว ก็จัดการประกอบทุกอย่างคืนร่างมันเหมือนเดิม
6. ทีนี้สำหรับใครที่ทำทีละข้างก็ขอให้พยายามจดจำความหนืดของล้อที่เราตั้งไว้ให้ได้ ก่อนจะมาทำตามขั้นตอนกับอีกข้าง ซึ่งกรณีที่เกิดลืมแล้วคาดว่าตั้งสองข้างไม่เท่ากัน ตอนทดสอบให้ระวังอาการรถแฉลบเอาไว้ด้วยนะครับ อันตรายมากๆ มาถึงตรงนี้ก็ได้เวลาแล้วครับ ที่จะต้องนำรถออกไปลองทดสอบกัน ซึ่งผมขอแนะนำว่าให้หาพื้นที่โล่ง และปลอดคนซักหน่อย เผื่อผิดพลาดประการใดจะได้แก้ลำทัน และไม่เกิดอันตรายกับใครด้วย ซึ่งหากใครไม่พอใจผลที่ได้ก็เพียงกลับไปทำตามขั้นตอนใหม่ แต่ที่สำคัญคือพยายามตั้งระยะให้ทั้งสองด้านมีการดึงที่เท่ากัน ซึ่งจะส่งผลให้ใช้งานนั้นราบรื่นยิ่งกว่า
หวังว่าคงจะไม่ยากจนเกินไปใช่มั๊ยครับ กับวิธีการตั้งเบรคมือที่ทาง Boxzaracing.com ได้นำมาให้เพื่อนๆ ได้ชมกันในวันนี้ แต่ถ้าหากใครก็ตามที่คิดว่ามันยากเกินกำลัง หรือทำแล้วเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นกับเบรคแล้วล่ะก็ ให้ตามช่างมาซ่อมให้จะดีกว่าครับ เพราะเรื่องของระบบเบรครถยนต์นั้นถือได้ว่าสำคัญที่สุดในการป้องกันอุบัติเหตุมากเลยทีเดียว ดังนั้นจึงควรให้ช่างผู้ชำนาญการตรวจสอบให้จะดีที่สุดครับ