เขียนโดย: AEFOTO

เมื่อ: 30 กรกฏาคม 2563 - 15:21

Ford สนับสนุนนักศึกษาวิศวะฯ PIM ส่งมอบวอร์ด Cowit 2020 หุ่นยนต์ลดความเสี่ยงสัมผัสจาก ผู้ป่วยโควิด-19

 

          ฟอร์ด ประเทศไทย สนับสนุนนักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ในภารกิจ “วอร์ด Cowit 2020” (Co-Creation Ward Innovation Technology 2020) “หุ่นยนต์และอุปกรณ์” ประกอบไปด้วย หุ่นยนต์ “น้อง C และ น้อง W” ตู้ฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ประตูอัตโนมัติหน้าห้องผู้ป่วย เครื่องติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วย พร้อมกันนี้ทีมวิศวกรของโรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) ยังได้นำพื้นฐานหุ่นยนต์ที่นักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ประดิษฐ์ขึ้นมาพัฒนาเป็นหุ่นยนต์เพื่อส่งมอบให้โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ไว้ใช้ในการปฏิบัติภารกิจเพิ่มอีก 1 ตัว โดยมีนายแพทย์ เกรียงไกร ตั้งจิตรมณีศักดา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เป็นผู้รับมอบ

          “ฟอร์ดมีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการทำกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่สังคมเสมอมา ฟอร์ดและทีมวิศวกรจากโรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของฟอร์ดมาให้การสนับสนุนนักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ในการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อสนับสนุนการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ในภารกิจ “วอร์ด Cowit 2020” เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการสัมผัส และแบ่งเบาภารกิจในการดูแลผู้ป่วย ฟอร์ดเชื่อว่าสิ่งที่พนักงานได้ร่วมสนับสนุนในครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้แก่นักศึกษาในการพัฒนาโครงการดีๆ เพื่อสังคม รวมถึงเป็นกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในการปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ป่วยในสมาร์ทวอร์ดที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์” คุณวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าว

 

 

          สำหรับ “หุ่นยนต์และอุปกรณ์” ในภารกิจ “วอร์ด Cowit 2020” ของนักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ประกอบไปด้วย

  • หุ่นยนต์ที่ใช้ในการนำส่งอาหารและยาให้กับผู้ป่วยจำนวน 2 ตัว โดยตัวแรกคือ “น้อง C” ย่อมาจากคำว่า Collaborate หมายถึงการร่วมมือร่วมใจในการสร้างสรรค์ พัฒนา ระหว่างทีมแพทย์และอาจารย์และนักศึกษาสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ พีไอเอ็ม พร้อมด้วยผู้ร่วมสนับสนุนจากบริษัทต่างๆ มากมาย และตัวที่ 2 คือ “น้อง W” มาจากคำว่า Well หมายถึงความคาดหวังของทีมผู้มีส่วนร่วมทุกท่านประสงค์ให้ทุกอย่างกลับมาดีดังเดิม ทั้งสุขภาพของผู้ติดเชื้อ สถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก รูปแบบการทำงานของหุ่นยนต์ “น้อง C และ น้อง W” คือ เดินตามเส้นทางและใช้แผ่น RFID เป็นตัวช่วยในการตรวจสอบตำแหน่งของห้อง ซึ่งทำงานง่าย สะดวก เพียงกดปุ่มหมายเลขห้องที่ต้องการ จากนั้นหุ่นยนต์จะนำส่งอาหารและยาไปให้ในห้องผู้ป่วย โดยต่อ 1 รอบ สามารถทำได้สูงสุดถึง 6 ห้อง ซึ่งจะทำการประมวลผลอัตโนมัติในการเลือกเส้นทางห้องใกล้ที่สุดไปจนถึงห้องไกลที่สุด จากจุดปล่อยหุ่นยนต์ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วหุ่นยนต์อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ดังนั้นหุ่นยนต์จะต้องเดินไปยังตู้ฆ่าเชื้อ UVC โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้การอบฆ่าเชื้อจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเชื้อโรคได้ถูกกำจัดเป็นที่เรียบร้อย และพร้อมสำหรับการใช้งานต่อไป
  • หุ่นยนต์ที่พัฒนาโดยทีมวิศวกรโรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) โดยทีมวิศวกรได้นำพื้นฐานหุ่นยนต์ที่นักศึกษาจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ประดิษฐ์ขึ้นมาพัฒนาเป็นหุ่นยนต์อีก 1 ตัว เป็นหุ่นยนต์ที่ได้รับความร่วมมือจากวิศวกรหลายแผนกของโรงงานฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด นำเทคโนโลยีรถขนส่งอัตโนมัติ (AGV – Automatic Guided Vehicle) ที่ซึ่งเป็นระบบที่ใช้อยู่ในโรงงานฟอร์ดมาพัฒนาต่อยอด โดยได้รับความร่วมมือจาก Ford Design Studio ที่ประเทศออสเตรเลียร่วมออกแบบ เพื่อส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ไว้ใช้ในการปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ป่วย
  • ตู้ฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคหลังจากที่ “น้อง C และ น้อง W” ส่งอาหารและยาให้แก่ผู้ป่วยเสร็จในแต่ละรอบ
  • ประตูอัตโนมัติหน้าห้องผู้ป่วย แต่ละห้องติดตั้งเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถเดินเข้าไปให้บริการผู้ป่วยได้ถึงเตียงโดยลดการสัมผัสประตู
  • เครื่องติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วย (อยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร) ใช้สำหรับเฝ้าติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วยว่าอยู่ในอัตราปกติหรือไม่ ผ่านโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันบนมือถือ

          ผศ.เกรียงไกร ทัศนวิภาส อาจารย์ประจำ สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม หัวหน้าทีมผู้พัฒนา คิดค้น“วอร์ด Cowit 2020” กล่าวว่า “เรานำจุดเด่นของระบบของหุ่นยนต์เชื่อมเข้ากับเทคโนโลยีทางวิศวะเชิงเทคนิค สร้างโปรแกรมการใช้งานให้สะดวกต่อการทำงาน จับจุดเด่นของระบบ Part User Interface (UI) ให้ใช้งานง่าย โดยทีม Developer ของเราเป็นนักศึกษาด้าน Robotic Engineer ที่ทดลองปรับเปลี่ยนระบบ พัฒนาฟังก์ชันการทำงานไปกับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นผู้ใช้งานจริง มีอุปกรณ์ การดูแลรักษาค่อนข้างง่าย ใช้งบประมาณการผลิตต่ำ ประสิทธิภาพการใช้งานสูง ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจ เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ โดยคณะทีมงานประกอบด้วยทีมศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ อาจารย์ นักศึกษา สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม จำนวน 9 คน รวมถึงบริษัทพาร์ทเนอร์ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุน อาทิ บริษัท ออลล์ เวลเนส จํากัด, บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เอ็ม.ที.คอนโทรล แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด ให้เกิดระบบอัจฉริยะนี้ขึ้น”

 

          “ล่าสุดได้พัฒนาหุ่นยนต์นำส่ งอาหารและยาถึงเตียงผู้ป่วยโดยอัตโนมัติ เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสในการติ ดเชื้อจากการสัมผัสกับประตู พร้อมด้วย เครื่องติดตามการให้สารละลายแก่ ผู้ป่วย อยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตร เพื่อสนับสนุนการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ ลดการตรวจให้สารละลายตามรอบเวลา ซึ่งปกติพยาบาลจะต้องเข้าไปตรวจการให้สารละลายของผู้ป่วยเป็นรอบตามเวลาที่กำหนด เพื่อป้องกันการไหลที่อาจไม่ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งสามารถติดตามผ่านโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันได้จากสมาร์ทโฟน ในปัจจุบันเครื่องดังกล่าวมีราคาค่อนข้างสูง ทางทีมจึงคิดค้นเครื่องนี้ขึ้นมาในราคาถูก และได้ประสิทธิภาพถือได้ว่าตอบโจทย์ในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดีอีกทางหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้” ผศ.เกรียงไกร กล่าวเสริม

 

 

          นพ.เกียรติศักดิ์ ทัศนวิภาส ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ทดลองใช้ “วอร์ด Cowit 2020”กล่าวว่า “โควิด-19 เป็นโรคใหม่ แพทย์จึงต้องประเมินสถานการณ์ อยู่ตลอดเวลา และหาวิธีป้องกันช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในการสัมผัสกับผู้ป่วย ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อปรับตัวให้เกิดความปลอดภั ยในการปฏิบัติงานสูงสุด เราทำงานร่วมกับวิศวกรได้ทดลอง และพัฒนาไปด้วยกัน “วอร์ด Cowit 2020” เข้ามาตอบโจทย์ส่วนนี้ จากการใช้งานจริงพบว่า โปรแกรมใช้งานง่าย ตัวหุ่นดีไซน์ให้มีตะขอเหมาะกับแพ็กเกจจิ้งอาหาร-ยา โดยระบบการทำงานทั้งหมดสั่งการผ่านแอปพลิเคชัน ตั้งแต่ต้นจนหุ่นยนต์ผ่านการฆ่าเชื้อเสร็จสิ้นจึงสะดวกไม่ยุ่งยาก ลดความผิดพลาดของการดูแลผู้ป่วยสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ใช้งานไม่เพิ่มขั้นตอนการทำงานเพียงแค่ผู้ใช้งานเรียนรู้ และควบคุมขั้นตอนการทำงานให้ถู กต้อง”

          ปัจจุบันระบบจัดการหอพักผู้ป่วยอัจฉริยะ “วอร์ด Cowit 2020” ติดตั้ง และได้ทดสอบภายในพื้นที่ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สร้างความพึงพอใจ และอำนวยความสะดวกให้กับแพทย์ และบุคลากร ช่วยปฏิบัติงาน ดูแลผู้ป่วยระยะไกล ลดความเสี่ยงในการใกล้ชิด และสัมผัส ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จที่อาจารย์และทีมนักศึกษาสาขาวิศวะหุ่นยนต์ฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญ ผนวกความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ให้มีประสิทธิ ภาพสูงสุดในการดูแลผู้ป่วยในอนาคต เตรียมพร้อมการเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิด-19 และก้าวต่อไปจากนี้ ทีมผู้พัฒนาอยู่ระหว่างการพัฒนาชิ้นงานในเฟสถัดไปด้วยความมุ่งมั่นเพื่อสร้างเครื่องมือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยเป็นส่วนหนึ่งสนับสนุนวงการแพทย์ไทยต่อไป

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook