เขียนโดย: Monster Racing

เมื่อ: 23 เมษายน 2560 - 13:11

Toyota แถลงข่าว โครงการสาทรโมเดล ขยายสู่กรุงเทพมหานคร สู่การแก้ไขปัญหาจราจรอย่างยั่งยืน

 

          คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย พลตำรวจโท วิทยา ประยงค์พันธุ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คุณสุธน อาณากุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจร และขนส่ง กรุงเทพมหานคร รองศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มร.ชิน อาโอยามะ เจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี และคุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานร่วมคณะกรรมการโครงการคมนาคมอย่างยั่งยืน 2.0 กรุงเทพมหานคร และประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมแถลงข่าวในงาน “โครงการสาทรโมเดลขยายสู่กรุงเทพมหานคร” ณ ห้อง 2001 ชั้นที่ 20 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

“สาทร โมเดล” เพื่อการแก้ปัญหาจราจรอย่างยั่งยืน

          โครงการสาทรโมเดล ริเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2557 โดยสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมกับภาคเอกชน และได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างต้นแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน เพื่อบรรเทาการจราจรที่ติดขัดบนถนนสาทร

          เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 โครงการได้มีการศึกษาทดลองดำเนินงาน โดยใช้มาตรการแก้ไขปัญหาจราจรอย่างเป็นระบบบนถนนสาทร และบริเวณโดยรอบ เช่น การริเริ่มรถบัสรับส่ง (Shuttle Bus) ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย รวมถึงมาตรการจอดแล้วจร (Park & Ride) พื้นที่จอดรถที่เชื่อมระบบขนส่งสาธารณะ และมาตรการควบคุมจัดการจราจร (Traffic Flow Management) บนถนนสาทร โดยได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกจากผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในการวางพื้นฐานบริการคมนาคม ที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้สัญจรบนท้องถนน

          ต่อมาในเดือนเมษายน 2558 มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี ได้สนับสนุนเงินทุนจำนวนประมาณ 110 ล้านบาทให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินโครงการสาทรโมเดลให้มีขอบเขตการทำงานที่มากขึ้น  โดยมุ่งยกระดับการดำเนินการทดลอง รวมถึงเชิญชวนให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมสัมผัสประสบการณ์ใหม่ด้วยกันในโครงการนี้

          เป็นครั้งแรกที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาจราจร แบบบูรณาการ ทำให้โครงการมีความคืบหน้าไปเป็นอย่างมาก โดยมีการกำหนดมาตรการในบริเวณถนนสาทร ซึ่งผลจากโครงการต้นแบบ พร้อมที่จะนำขยายสู่พื้นที่อื่นซึ่งเพิ่มความสุขในการเดินทางและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

 

คุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

 

มาตรการจอดแล้วจร : เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางสู่ถนนสาทร

          โครงการจอดแล้วจร (Park & Ride) มาตรการเพิ่มทางเลือกสำหรับการเดินทางของประชาชนเข้าสู่พื้นที่ถนนสาทร จากความร่วมมือของสมาคมค้าปลีกไทย, สมาคมห้างสรรพสินค้าไทย และบริษัท นิปปอน ปาร์คกิ้ง ดีเวลลอบเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้แบ่งปันพื้นที่จอดรถ รวมถึงได้พัฒนาพื้นที่จอดรถขึ้นมาใหม่ ในทำเลที่เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ 504 คน โดยเฉพาะจำนวนของผู้ใช้จุดจอดแล้วจรกรุงธนบุรีเฉลี่ย  280 คน ต่อวัน

          สำหรับความเป็นไปได้ในการพัฒนาจุดจอดแล้วจรในอนาคต ทางโครงการเสนอให้ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการจัดหาที่ดินสำหรับจัดทำจุดจอดแล้วจรในบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าที่จะเปิดในอนาคต โดยให้เอกชนมีส่วนร่วมลงทุนก่อสร้างและดำเนินการจุดจอดแล้วจรในที่ดินของรัฐ และได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ รัฐควรมีหน่วยงานเจ้าภาพที่สามารถทำหน้าที่การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นให้ให้มีจุดจอดแล้วจรเพียงพอโดยดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจอื่นในบริเวณเดียวกันด้วยเพื่อสร้างรายได้และช่วยลดภาระทางการเงินที่ต้องใช้ดำเนินการจุดจอดแล้วจร

มาตรการรถรับส่ง : เพื่อลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลบริเวณถนนสาทร

          ในโครงการฯได้พัฒนาการให้บริการรถโรงเรียน (School Bus) ที่มีความปลอดภัยสูงในรูปแบบ สถานีถึงโรงเรียน (Station to School) ทั้ง 2 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม และ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยผู้ปกครองมาส่งบุตรหลานตามจุดจอดที่กำหนดไว้ แล้วเดินทางต่อสู่โรงเรียนด้วยรถรับส่งที่โครงการจัดไว้ เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรหน้าโรงเรียน ประหยัดเวลาในการรับส่งบุตรหลาน อีกทั้งยังเป็นการฝึกเยาวชนให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองในการเดินทางมาโรงเรียน

          โครงการใช้รถร่วมกัน (ทางเดียวกันมาด้วยกัน) หรือ ACP Car Sharing ซึ่งมุ่งสนับสนุนให้ผู้ปกครองที่ปกติใช้รถยนต์ส่วนตัวในการมารับส่งบุตรหลาน เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ร่วมกันเดินทางมาโรงเรียน  โดยโครงการได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ปกครองและคณะผู้บริหารโรงเรียน โดยได้มีการสำรวจข้อมูลที่อยู่อาศัย จัดกลุ่มนักเรียนที่อาศัยอยู่ใกล้กันหรือในแนวเส้นทางเดียวกัน  และสร้างกลุ่มทางสังคมในการประชาสัมพันธ์และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เพื่อนนักเรียนและผู้ปกครองอื่นๆ

 

 

มาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน : เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์ในช่วงเวลาเร่งด่วน

          มาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน (Flexible Working Time) เพื่อกระจายปริมาณรถยนต์ที่เข้าสู่พื้นที่ถนนสาทรในชั่วโมงเร่งด่วน ด้วยความร่วมมือของบริษัทเอกชนที่มีสำนักงานในบริเวณถนนสาทร และสีลม โดยใช้ข้อมูลการเดินทางของพนักงานที่ได้จาก Linkflow Application เพื่อใช้ออกแบบวางแนวทางการใช้มาตรการเหลื่อมเวลาทำงานใน  แต่ละบริษัทที่เข้าร่วม ซึ่งส่งผลดีโดยตรงต่อพนักงานคือ สามารถวางแผนการเดินทางเพื่อเข้าทำงานหรือเลิกงานได้เหมาะสม มีส่วนช่วยลดความแออัดบนท้องถนนลงได้ โดยมีพนักงานที่เข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 4,300 คน จาก 12 บริษัท

มาตรการบริหารจัดการจราจร

          1. การจัดช่องจราจรพิเศษ (Reversible Lane) ในช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้า โดยให้รถขาเข้าจากสะพานตากสินและจากถนนเจริญราษฎร์สามารถเข้าสู่ถนนสาทรเหนือโดยใช้ช่องทางพิเศษได้ 1 ช่องทางบนถนนสาทรใต้ทำให้สามารถระบายปริมาณรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          2. การจัดการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ด้วยการหยุดรับส่งนักเรียนแล้วรีบเคลื่อนรถออกไป (Kiss & Go) โดยกำหนดจุดรับส่งอย่างเป็นระเบียบ พร้อมทั้งการสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ จากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ทำให้ปัญหารถชะลอตัว เนื่องจากการเปลี่ยนช่องทางเพื่อรับส่งนักเรียนเบาบางลง การจราจรช่วงก่อนถึงหน้าโรงเรียนคล่องตัวขึ้น

          3. การบริหารควบคุมสัญญาณไฟจราจรที่สี่แยกสาทร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สามารถรับทราบข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในการกำหนดสัญญาณไฟจราจร ด้วยโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น โดยคำนวณจากปริมาณจราจรในแต่ละช่วงเวลาแบบเรียวไทม์ และระยะแถวคอยในแต่ละทิศทาง ช่วยให้สามารถกำหนดสัญญาณไฟจราจรได้อย่างเหมาะสมกับสภาพจราจรและมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

 

          จากการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก เมื่อวันที่ 9 กุมพาพันธ์ พ.ศ. 2560 โดยมี คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินการของโครงการคมนาคมอย่างยั่งยืน 2.0 (Sustainable Mobility Project 2.0) สาทรโมเดล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชน สถานศึกษา ภาคเอกชน และภาครัฐ ทำให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่สามารถลดความแออัดของพื้นที่ โดยรอบถนนสาทรได้เป็นอย่างดี รวมทั้ง ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนที่นำทางการขยายมาตรการที่ได้ดำเนินการในสาทรโมเดลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ (Roadmap) ไปสู่การปฏิบัติ ได้แก่ การจัดการจราจร และการบริหารความต้องการการเดินทาง เพื่อขยายมาตรการที่ได้ดำเนินการในสาทรโมเดลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในการจัดตั้งองค์การด้านการสัญจรอย่างยั่งยืน (Sustainable Mobility Institute : SMI) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนและดำเนินการตามแนวทางการขนส่งที่ยั่งยืนเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook