เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุครุ่งเรืองของรถยนต์ที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ สหภาพยุโรปกำลังจะบังคับใช้กฎหมายให้ติดตั้งระบบอีคอลซึ่งเป็นระบบโทรฉุกเฉินอัตโนมัติ (eCall automatic emergency call system) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 เป็นต้นไป ซึ่งหมายความว่า รถยนต์ใหม่ทุกคันจะกลายเป็นรถยนต์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไปโดยปริยาย การ์ทเนอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำการวิจัยตลาดได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2563 จะมีรถยนต์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตวิ่งอยู่บนท้องถนนทั่วโลกกว่า 250 ล้านคัน
เนื่องจากรถยนต์กำลังกลายเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบพกพามากขึ้น ผู้ที่กำลังพิจารณาซื้อรถยนต์จึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับการให้บริการด้านดิจิทัลต่างๆ เพิ่มมากขึ้น อาทิ การตรวจสอบสภาพรถ หรือการเตือนเมื่อขับรถผิดทาง การสำรวจที่จัดทำโดยกลุ่มวิจัยสื่อและผู้บริโภคเยอรมัน (VuMA 2017) พบว่า ประชากรเยอรมันมากกว่า 1 ใน 4 มองว่า การเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตร่วม เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อรถคันใหม่ ทั้งนี้ ดร. เดิร์ก โฮไฮเซล กรรมการบริหารของบ๊อช ได้กล่าวในระหว่างการประชุมนานาชาติ Bosch ConnectedWorld 2017 ซึ่งจัดที่กรุงเบอร์ลินว่า
“การให้บริการต่างๆ สำหรับรถยนต์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต กำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความแตกต่างในอุตสาหกรรมรถยนต์” มร. โฮไฮเซล ยังได้ประกาศเปิดตัวระบบออโตโมทีฟ คลาวด์ สวีท ของบ๊อช (Bosch Automotive Cloud Suite) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่สำหรับการบริการด้านการขับเคลื่อน (mobility service) อีกด้วย ระบบออโตโมทีฟ คลาวด์ สวีท ของบ๊อช ช่วยสร้างแพลตฟอร์มของซอฟต์แวร์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์และผู้ให้บริการด้านการขับเคลื่อนต่างๆ ทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ครอบคลุม (comprehensive toolkit) ในการพัฒนาการให้บริการในทุกรูปแบบสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ และช่วยขยายการบริการเหล่านี้ออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว มร. โฮไฮเซล กล่าวต่อว่า “ผู้ขับขี่รถยนต์จะได้รับประโยชน์จากการบริการต่างๆ แบบส่วนบุคคลที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นจากระบบออโตโมทีฟ คลาวด์ สวีท ของบ๊อช”
“นอกเหนือจากการที่ลูกค้าของเราสามารถใช้บริการระบบออโตโมทีฟ คลาวด์ สวีท ได้แล้ว เรายังใช้ระบบนี้สำหรับการบริการต่างๆ ในองค์กรของเราด้วย” มร. โฮไฮเซล กล่าว ทั้งนี้ บ๊อชได้สาธิตการให้บริการแบบใหม่ต่างๆ ในรถยนต์ จากัวร์ เอฟ-เพซ (Jaguar F-Pace) ที่นำมาแสดงในงาน Bosch ConnectedWorld 2017 โดยการให้บริการทั้ง 5 ประการนี้ กำลังจะกลายเป็นบริการระดับมาตรฐานที่จะติดตั้งไว้ในรถยนต์ทุกคันในอนาคต
1. การเตือนเมื่อขับขี่ผิดทาง (Wrong-way driver alert)
ในประเทศเยอรมนีเพียงประเทศเดียว ปรากฏสัญญาณเตือนกว่า 2,000 ครั้งเกี่ยวกับการขับขี่ผิดทางในแต่ละปี โดยส่วนใหญ่ สัญญาณเตือนจะปรากฏค่อนข้างช้า ทำให้ 1 ใน 3 ของอุบัติการณ์เหล่านี้จบลงหลังจากการขับผิดทางเลยไปแล้วกว่า 500 เมตร หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ การเกิดอุบัติเหตุที่อาจเป็นภัยถึงชีวิต การแจ้งเตือนเมื่อขับขี่ผิดทางโดยใช้ระบบคลาวด์ของบ๊อชจึงออกแบบมาเพื่อให้สามารถส่งสัญญาณเตือนภายในเวลาเพียงประมาณ 10 วินาที การเตือนนี้ไม่เพียงปรากฏขึ้นเมื่อผู้ขับรถยนต์ขับรถผิดทาง แต่ยังช่วยเตือนผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันด้วย การให้บริการนี้จึงเปรียบเสมือนมีเทวดาผู้พิทักษ์ในระบบดาต้าคลาวด์ (data cloud) นั่นเอง
2. การวินิจฉัยแบบคาดการณ์ (Predictive Diagnostics)
ไม่มีอะไรที่น่าหงุดหงิดใจไปกว่ารถเสียในช่วงวันหยุดพักร้อน การวินิจฉัยแบบคาดการณ์ล่วงหน้าจึงช่วยป้องกันเหตุต่างๆ ในกรณีที่รถยนต์ใช้การไม่ได้อย่างกะทันหัน ในระหว่างการขับรถ ระบบสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคาดการณ์สภาพของส่วนประกอบสำคัญต่างๆ ของรถ ผู้ขับขี่จะได้รับการแจ้งเตือนก่อนที่ชิ้นส่วนใดของรถจะชำรุด นอกจากนี้ ยังได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการนำรถเข้าอู่ซ่อมรถในครั้งต่อไปอีกด้วย
3. การจอดรถในละแวกชุมชน (Community-based parking)
การให้บริการนี้ได้เปลี่ยนการจอดรถให้เป็นกิจกรรมส่วนรวม ในขณะที่ขับรถยนต์ไปรอบๆ ตัวเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ติดตั้งในรถยนต์จะทำหน้าที่ค้นหาและประเมินช่องว่างระหว่างรถยนต์คันต่างๆ ที่จอดริมถนน ข้อมูลดังกล่าวจะส่งไปยังแผนที่จอดรถดิจิทัล จากนั้น บ๊อชจะใช้การประเมินผลข้อมูลอัจฉริยะ (smart data processing) เพื่อคาดการณ์สถานการณ์ในการจอดรถ โดยสามารถดูแผนที่จอดรถดิจิทัลสำหรับรถยนต์ที่อยู่ในบริเวณนั้นผ่านระบบคลาวด์ เพื่อช่วยให้ผู้ขับรถสามารถขับตรงไปยังที่จอดรถที่ว่างอยู่ได้ทันที
4. ผู้ช่วยส่วนตัว (Personal Assistant)
ความฝันของการมีผู้ช่วยส่วนตัวกำลังกลายเป็นความจริงแล้ว เนื่องด้วยบริการของบ๊อช ผู้ขับรถยนต์จะสามารถใช้การออกคำสั่งด้วยเสียงในการจัดการการนัดหมายต่างๆ ของตนเองได้อย่างสะดวก และยังสามารถขอดูข้อมูลที่หลากหลายได้ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการสั่งงานต่างๆ ในบ้านอัจฉริยะ (smart home) ของตน และอีกมากมายในขณะขับรถ โดยผู้ช่วยส่วนตัวนี้จะจดจำและศึกษาอุปนิสัยรวมถึงความชอบต่างๆ ของผู้ขับ เพื่อให้การช่วยเหลือที่เหมาะสมยิ่งขึ้นในครั้งต่อๆ ไป
5. การอัพเดทซอฟต์แวร์อัตโนมัติ (Software updates over the air)
การอัพเดทซอฟต์แวร์จากระบบคลาวด์ถือเป็นเรื่องปกติที่ทำได้ในสมาร์ทโฟน ณ ตอนนี้ บ๊อชกำลังทำเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นกับรถยนต์ ฟีเจอร์ใหม่ต่างๆ เช่น โหมดการขับขี่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า จะสามารถอัพเดทกับรถยนต์ได้ในชั่วข้ามคืน โดยการเข้ารหัสข้อมูล และได้รับการป้องกันจาก
แฮคเกอร์ได้