Isuzu D-Max เครื่อง 2,500 CC. สเตปรถรอบ เทอร์โบปากไม่เกิน 46 mm. ควันไม่ดำ

เขียนโดย: Mhee 6524694

เมื่อ: 10 เมษายน 2563 - 08:36

ภาพโดย: Refresh

Refresh

 

           เป็นอีกหนึ่งกีฬาที่มีคนติดตามไม่น้อยในเมืองไทย กับกีฬามอเตอร์สปอร์ต ในการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ ซึ่งมีรถเข้าร่วมทำการแข่งขันหลายรุ่น หนึ่งในนั้นมีรุ่นสำหรับรถเพื่อการพาณิชย์ หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า รุ่นรถกระบะ สำหรับรุ่นนี้รถแข่งต้องใช้เครื่องยนต์ Commonrail เท่านั้น และสามารถปรับแต่งได้ตามกติกาการแข่งขันของรายการนั้นๆ อย่างรถคันที่ทีมงาน BoxzaRacing จะนำเสนอให้เพื่อนๆ ได้ดู เป็นรถของนาย ออฟ D.N.A. ที่ทำรถให้ นาย เต้ย TD Slide Car สังกัด Team Donut Racing เป็นคนขับ ในรายการ Thailand Super Series รุ่น Thailand Super Pickup Class C 

 

 

           สำหรับภายนอกของรถคันนี้ ชิ้นส่วนไหนหนัก หรือสามารถเปลี่ยนได้เปลี่ยนหมด เริ่มตั้งแต่ฝากระโปรงหน้าเปลี่ยนเป็นไฟเบอร์ทั้งบาน กันชนหน้าปรับแต่งใหม่ เพื่อจะเป็นที่อยู่ของอินเตอร์คูลเลอร์ขนาด 4” เพื่อให้ตำแหน่งของอินเตอร์ไม่ไปบังทางลมของหม้อน้ำใบใหญ่ที่เปลี่ยนมาใหม่ พร้อมต่อลิ้นหน้าเพิ่มตามกติกาของรายการการ ส่วนกระจังหน้าถอดออกแล้วปรับแต่งด้วยอะลูมิเนียมเพื่อจะบังคับทางลมให้เป่าเข้าไปที่หม้อน้ำโดยตรง จากนั้นถอดกระจกบานข้างซ้ายขวา และกระจกหลังออก เปลี่ยนเป็นโพลีคาร์บอเนตใส ประตูฝั่งคนนั่งเป็นไฟเบอร์ส่วนฝั่งคนขับยังคงเป็นเหล็กตามกฏกติกาอยู่ กระจกมองข้างเปลี่ยนใหม่ให้มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม ส่วนฝาปิดท้ายกระบะถอดออกแล้วใส่สปอยเลอร์หลังเข้าไปเพื่อเอาไว้ดักลมมากดท้ายรถไว้เวลาที่วิ่งทางตรง เปลี่ยนแก้มหน้า-หลังใหม่เป็นแบบโป่งเพื่อคลุมล้อที่ยื่นออกมา โดย อู่สีบังมัด รับหน้าที่ทำบอดี้และทำสีให้กับรถคันนี้ หลังจากที่ทำสีเสร็จแล้วก็คาดสติ๊กเกอร์สปอร์นเซอร์ที่ให้การสนับสนุนทั้งหมด 

 

 

           สำหรับรุ่น Thailand Super Pickup สามารถเลือกใช้เครื่องยนต์ Commonrail ได้ตั้งแต่ cc. ต่ำกว่า 2,150 cc. ไปจนถึง 3,250 cc. แต่น้ำหนักรถก็จะต้องเพิ่มตามขนาดของน้ำหนักรถที่แตกต่างกันออกไป โดยรถคันนี้ใช้เครื่อง 2,500 cc. ของ Isuzu โดยพิกัดน้ำหนักของรถคันนี้ ต้องไม่ต่ำกว่า 1,525 Kg. โดยเครื่องยนต์สามารถปรับแต่งได้ตามกติกาที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งเครื่องของรถคันนี้ส่งไปให้อู่ O Set Up จัดการโมดิฟายไส้ในใหม่ทั้งหมด พร้อมทั้งจัดการเคลียร์แรนซ์เครื่องยนต์ใหม่ทั้งหมด พร้อมทั้งบาลานซ์ข้อเหวี่ยงใหม่ ส่วนแคมชาฟท์ของ เบิร์ดหลักห้า หลังจากที่ทำไส้ในใหม่ทั้งหมดแล้ว น้ำมันเครื่องก็มีส่วนสำคัญโดยรถคันนี้เลือกใช้น้ำมันเครื่องของ J-One ช่วยหล่อลื่นเครื่องยนต์ให้ลื่นขึ้น ต่อมาเป็นระบบเทอร์โบบ้าง นายออฟ เจ้าของรถได้หยิบเอาเทอร์โบ F55 ของ โรงกลึงศรีโกศักดิ์ โดยปากเบอร์โบของรถรุ่นนี้ต้องมีขนาดไม่เกิน 46 mm. และได้เดินท่ออินเตอร์ฯ ใหม่ พร้อมใส่อินเตอร์ฯ ขนาด 4” จาก วรวิทย์โมดิฟาย ส่วนระบบน้ำมันเปลี่ยนปั้มติ๊กให้เป็นของ Bosch พร้อมทำปั้มคอมมอนเรลและหัวฉีดใหม่จาก พงษ์ศักดิ์ดีเซล เพื่อให้น้ำมันฉีดเขาระบบจุดระเบิดได้แรงขึ้นและมากพอกับอากาศที่เข้ามาเยอะขึ้น ส่วนระบบน้ำทำระบบไหลเวียนของน้ำในเครื่องยนต์ใหม่ให้ไหลเวียนได้ดีขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยังได้เปลี่ยนหม้อน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมเพื่อจะได้ระบายความร้อนของเครื่องยนต์ และทำให้อุณหภูมิของเครื่องยนต์อยู่ในค่าที่ต้องการไม่สูงเกินไป เพราะถ้าความร้อนเครื่องยนต์สูง เครื่องยนต์ก็จะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่วนเฮดเดอร์ไอเสียใช้เฮดเดอร์เดิมแต่เดินท่อไอเสียใหม่จาก ช่างเจมส์ การช่าง ซึ่งรถคันนี้ใช้กล่อง Alpha Tech เป็นสมองกลคอยสั่งจ่ายน้ำมันและไฟ ซึ่งปรับจูนโดยทีมงานของ Alpha Tech โดยตรง แรงม้าของรถคันนี้มีให้ใช้ประมาณ 350-400 ตัว โดยที่ควันไม่ดำในระหว่างแข่งขันด้วย ส่วนระบบส่งกำลังทาง Exedy ได้ส่งคลัทช์ของทางโรงงานมาให้ใช้เพื่อวิจัยและพัฒนาให้รองรับกับเครื่องยนต์ที่มีทอร์คสูงๆ และแรงม้าเยอะๆ โดยคลัทช์ตัวนี้ทำหน้าที่จับต่อกำลังของเครื่องยนต์เข้ากับชุดเกียร์เดิมไส้ OS จาก กุ๊กเกียร์ซิ่ง ส่งกำลังไปที่เฟืองท้ายเบอร์ 3.5 ของ MRX ก่อนจะส่งเข้าสู่ล้อ 

 

 

           ระบบช่วงล่างสำหรับรถเซอร์กิตหรือรถรอบถือว่ามีความสำคัญมากๆ เพราะว่ารถจะต้องเข้าโค้งด้วยความเร็ว ออกจะโค้งด้วยความเร็ว หรือเบรคที่ความเร็วสูงๆ เพราะฉะนั้นช่วงล่างถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้เครื่องยนต์เลย ซึ่งรถคันนี้ได้ทำการขยายฐานล้อออกมาให้ ซึ่งตามกติกาสามารถขยายได้แต่ต้องไม่เกิน 210 เซ็นติเมตร วัดจากจุดศูนยกลางแนวดิ่งของดุมล้อ แต่ถ้าล้อยื่นออกมาก็ต้องมีโป่งมาปิดเอาไว้ ส่วนการขยายฐานล้อก็จะเป็นสูตรใครสูตรมัน ต้องการท้ายออกเยอะๆ ฐานล้อหลังจะต้องแคบกว่าฐานล้อหน้า แต่ถ้าไม่อยากให้ท้ายออกฐานล้อหลังกับล้อหน้าความยาวก็จะใกล้เคียงกัน ขึ้นอยู่กับนิสัยการขับขี่ของคนขับว่าชอบแบบไหน ส่วนโช้คอัพของรถคันนี้หยิบเอาของ YSS รุ่น Racing Sub Tank มาใส่เข้าไป พร้อมจัดการดัดแหนบหลังใหม่และไล่ค่าแหนบใหม่ พร้อมทั้งเซ็ทช่วงล่างด้านหลังใหม่ไม่ให้เพลาหลังเต้นเวลาที่รถออกตัว ระบบเบรคหยิบเอาคาร์ลิเปอร์ของ Aristo พร้อมจาน BBA มาใส่ทั้ง 4 ล้อ โดยใช้ผ้าเบรค Googai ส่วนล้อเป็น Lenso Project D ขอบ 17”

 

 

          ห้องโดยสารรื้อพรมรื้ออุปกรณ์ภายในออกทั้งหมดจากนั้นพ่นสีขาวเข้าไป เพื่อให้ห้องเครื่องดูสะอาดขึ้น จากนั้นเดินโรล์บาร์จากตั้ม บางกรวย เข้าไปทั้งลำ หลังจากที่เดินโรล์บาร์เสร็จแล้ว หยิบเบาะ MOMO หูกวางมาใส่เข้าไปกับเบลส์ของ Takata พวงมาลัยของ OMP และติดเกจ์วัด Smart Gauge เข้าไปเอาไว้อ่านค่าความร้อนระบบหล่อเย็นและเอาไว้ลบโค้ดเครื่องยนต์ แผงคอนโซลแอร์รื้อออก เพื่อให้เป็นที่อยู่ของกล่อง Alpha Tech นอกจากนั้นติดตั้งถังดับเพลิงเข้าไปตามกฏกติกาของการแข่งขัน 

 

นายออฟ D.N.A. เจ้าของรถ

 

เต้ย TD Slider Car กับตำแหน่งแชมป์ประจำปี Class C รุ่น Thailand Super Pickup

 

           สำหรับรถคันนี้ นาย ออฟ D.N.A. ที่ให้อู่ O Set Up เป็นหน้าที่ดูแลเรื่องเครื่องยนต์ ก่อนไปที่สนามแข่ง และทางอู่ Mr. Garage ทำหน้าที่เซอร์วิสในระหว่างแข่งขันที่สนาม ส่วนคนที่ขับรถคันนี้คือ เต้ย TD Slide Car ซึ่งในปี 2019 เขาคว้าแชมป์ประจำปี Class C รุ่น Thailand Super Pickup รายการ Thailand Super Series มาครองได้ด้วย 

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook