ใครจะเชื่อว่า เทคโนโลยีกับเครื่องยนต์จะไปด้วยกันได้ขนาดนี้ เคยเห็นแต่ในหนังเวลาสร้างรถหรือสร้างสิ่งของอะไรขึ้นมาก็จะจำลองต้นแบบมาจากคอมพิวเตอร์ ใส่เทอร์โบตัวนี้แม๊ทกับเครื่องตัวนี้ได้แรงม้ากี่ตัว ใส่แคมชาฟท์ตัวนี้ได้ม้าเพิ่มกี่ตัว ท่อไอเสียต้องเป็นแบบไหนถึงจะได้แรงม้าที่ต้องการ แต่ล่าสุดไปเห็นของจริงๆ ตัวเป็นๆ มากับรถ Honda DC2 Flow Lap ที่ใช้เวลาประกอบสร้างเสร็จภายใน 1 เดือน แต่ของต้องพร้อมทุกอย่างนะ ซึ่งรถคันนี้ทาง เหน่ง Flow Lap เจ้าของบอกกับทางทีมงานว่า ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้รถเสร็จตามที่ต้องการแทบทั้งคันเลย เราไปดูรายละเอียดของรถคันนี้กันดีกว่า ว่ามีอะไรบ้าง
Honda DC2 บอดี้พาร์ทใหม่ By Monza
เริ่มกันตั้งแต่บอดี้ภายนอกก่อนเลย ให้ทาง Monza เป็นคนออกแบบใหม่ทั้งหมด เริ่มจากแก้มซ้าย-ขวา กันชนหน้าที่เป็นไฟเบอร์เพื่อให้รถมีน้ำหนักเบา ส่วนฝากระโปรงหน้าเป็นไฟเบอร์เช่นกัน พร้อมเจาะรูเพื่อเป็นทางออกของท่อไอเสีย โดยชุดหน้าไฟเบอร์ทั้งหมดเป็นผลงานของทางร้าน Monza Shop ทั้งหมด ส่วนกระจกเป็นอะครีลิคใส่ทั้งหมด ยกเว้นบานหน้าที่ยังเป็นกระจกจริงอยู่ตามกฏกติกาการแข่งขัน ทางด้านท้ายใส่สปอยเลอร์หลังเข้าไปเอาไว้กดท้ายไม่ให้ส่ายไปมา และยังได้ติดตัว Wheelie Bar จาก Aor 77 เพิ่มการทรงตัวและป้องกันไม่ให้ล้อหน้าลอย รถจะได้ทะยานไปด้านหน้าอย่างรวดเร็ว
เครื่อง K20A เทอร์โบ Passion 1200 Hp.
เทอร์โบ Passion PT 7675
รางหัวฉีด K-Tuned
เครื่อง K20A เทอร์โบ 1200 Hp. 9.31 Sec
ถ้าเอ่ยถึงชื่อเสียงของ Flow Lap เรื่องทำเครื่องฮอนด้านั่นไม่เป็นสองรองใครเนื่องจากทำเครื่องฮอนด้า N/A ลงแข่งมาพอสมควรแล้ว แต่ในปีนี้ทาง “พี่เหน่ง Flow Lap” อยากลองอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ให้กับอู่ตัวเองบ้างจึงสร้างโปรเจค K20A เซ็ทเทอร์โบเข้าไป พร้อมกับคอนเซ็ปที่ว่าเอา “เทคโนโลยี” มาช่วยสร้างเครื่อง สร้างรถ ซึ่งการที่ได้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างเครื่องคราวนี้ทำให้สามารถไล่เครื่องยนต์ให้แรงได้ง่าย และยังสามารถต่อยอดออกไปได้อีกด้วย อย่างเครื่องตัวนี้เป็นเครื่อง Honda K20A โมดิฟายใหม่ทั้งตัวเริ่มจากทำฝาสูบด้วยเครื่อง CNC Pot By Flow Lap จากนั่นเปลี่ยนแคมชาฟ์ทใหม่เป็นของ BC Stage 3 สปริงวาล์วของ Super Tec รีเทนเนอร์ของ Super Tec เช่นกัน ส่วนน๊อตฝาสูบใช้ของ ARP ส่วนชุดท่อนล่างเปลี่ยนชาฟท์อกและชาฟท์ก้านใหม่เป็นของ Carigo ทั้งชุด ส่วนก้านสูบเป็นอะลูมิเนียม R&R เสื้อสูบเป็นของ K20 ที่คว้ากระบอกสูบใหม่ด้วย CNC By Flow Lap ส่วนตัวปลอกสูบใช้ของ Darton ลูกสูบเปลี่ยนเป็นไซค์ 87.5 mm. ของ Trum มาพร้อมกับแหวนลูกสูบ Trum เช่นกัน ส่วนตัวไลนเนอร์ใช้ของ Darton น๊อตก้าน ARP ภายนอกเครื่องยนต์เริ่มจากฝั่งไอดีก่อนเลย ลิ้นปีกผีเสื้อเปลี่ยนใหม่มาเป็นขนาด 90 mm. ของ K-Tune เพื่อให้สูดอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้ได้เยอะๆ ส่วนท่อร่วมไอดีใช้ของ Skun Pro ส่วนฝั่งไอเสียหยิบเอาเทอร์โบของ Pession รุ่น PT 7675 ที่รองรับแรงม้าได้สูงถึง 1,200 แรงม้า++ นิดหน่อย โดยใช้เวสเกตของ Tial เอาไว้คุมบูสท์ไม่ให้ไหลเกิน 3 Bar ส่วนเฮดเดอร์และชุดท่อไอเสียขนาด 3 ½” ของ Spark Header โดยท่อไอเสียออกที่ฝากระโปรงหน้าเลย ไอดีมาแล้ว ไอเสียก็ได้แล้ว มาต่อกันในส่วนของระบบน้ำมันกันหน่อยเริ่มจากปั้มติ๊กรถคันนี้ใช้ปั้มติ๊กของ Mega Fuel เป็น Machnic Pump เป็นปั้มติ๊กที่ไม่ใช้ไฟฟ้าใช้แรงเครื่องเป็นตัวปั่นเพื่อลดภาระการใช้ไฟ โดยปั้มติ๊กตัวนี้รองรับแรงม้าได้สูงถึง 3,000 Hp. โดยใช้เรคูเรเตอร์ของ Weldom เป็นตัวควบคุมแรงดันของน้ำมันให้คงที่ส่วนรางหัวฉีดเป็นของ K-Tune ส่วนตัวหัวฉีดเปลี่ยนใหม่เป็นของ Atomizer 560 cc. มาต่อกันที่ระบบไฟบ้างเครื่องคันนี้ยกใหม่ทั้งลำดังนั้นต้องวายริ่งสายไฟใหม่ทั้งคัน ถ้าวายริ่งสายไฟไม่ดี วายริ่งไม่ครบก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้รถวิ่งไม่ดีเช่นกัน หน้าที่การวายริ่งสายไฟนี้เป็นผลงานของ Wiring Studio จัดการวายริ่งสายไฟทั้งคัน ก่อนกระแสไฟจะปล่อยเข้าไปที่คอยล์แยกของ Pertronnix รุ่น Hc เข้าสู่สายหัวเทียนของ MSD ที่ต่อเข้ากับหัวเทียนของ Brick เบอร์ 10 ทำหน้าที่ Spark ไฟจุดระเบิดให้กับเครื่องยนต์ตัวนี้ โดยกล่อง ECU ของรถคันนี้ใช้กล่องของ Fuel Tech รุ่น FT550 ที่ปรับจูนโดย บุ้ง จูนเวอร์ (Bung Tune ver) เป็นคนรับหน้าที่เขี่ยระบบไฟ ระบบน้ำมัน ให้ทำงานตามรอบที่ต้องการเพื่อปั่นเวลาสวยๆ และแรงม้าเจ๋งๆ ให้กับเครื่องตัวนี้ ทางด้านของระบบส่งกำลังเลือกใช้คลัทช์ของ Tilton ขนาด 5 ½” เป็นทองแดง 2 แผ่นส่งกำลังผ่านเกียร์ G-Force 4 Speed เป็นแบบเกียร์ Dog Box H Pattern ส่วนเฟืองท้ายเป็น G-Force อัตราทด 4.0
ล้อ Weld ยาง Mickey Thompson 15"
ยางหลังหน้ากว้าง 5" ใส่สปอยเลอร์หลัง พร้อมร่ม ช่วยเบรก
โช้ค BC Sport ล้อ Weld
ส่วนของช่วงล่างของรถคันนี้เปลี่ยนบูธใหม่ทั้งหมด โดยการ CNC ขึ้นมาทุกชิ้น พร้อมทำปีกนกใหม่ให้แข็งแรงขึ้นกว่าเดิมและใส่บูธใหม่เข้าไป ส่วนตัวปรับมุมแคมเบอร์ใช้ของ Hand Race โช้คอัพพร้อมสปริงเป็นของ Bc Sport ส่วนล้อเป็นล้อ Weld ขอบ 15” หุ้มด้วยยาง Mickey Thompson ET Drag ส่วนระบบเบรกเบรกหน้าใช้จานและคาร์ลิบเปอร์เดิมแต่เปลี่ยนผ้าเบรกใหม่ ส่วนเบรกหลังเพิ่มคาร์ลิบเปอร์เข้าไป 1 ชุดสำหรับเบรคมือไฮดรอลิคเอาไว้เพื่อที่จะได้เบิร์นยางได้ จากนั่นติดร่ม ช่วยเบรกด้านหลังที่ต่อคันโยกเข้ามาห้องโดยสารเอาไว้ช่วยเบรกขณะเข้าเส้น
เบาะ Tecnocraft รุ่น T2 Dry Carbon Fiber
โรล์บาร์รอบคัน เลาะพื้นหลัง
หัวเกียร์ Strain Gauge ด้ามเบรกมือไฮดรอลิค
รื้อตัด ยก ต่อ เพิ่ม ใส่ความปลอดภัย
ห้องโดยสารจัดการสร้างโรล์บาร์ใหม่จาก Aor 77 ทั้งคัน จากนั่นตัดซุ้มยางอะไหล่ออกและพื้นหลังออกแล้วหยิบแผ่นคาร์บอนมาปิดเอาไว้ไม่ให้ลมเข้าสู่ห้องโดยสาร ส่วนคอนโซลหน้ายกเอาของเดิมออกแล้วหล่อขึ้นเป็นชิ้นงานเคฟล่าร์ขึ้นมาใหม่ น้ำหนักเบาและแข่งแรง ส่วนพวงมาลัยหยิบเอาของ Omp มาใส่ เบาะเลือกใช้ของ Tecnocraft รุ่น T2 Dry Carbon Fiber เคฟล่าร์ดำเบาะแดง หัวเกียร์ Strain Gauge เอาไว้เปลี่ยนเกียร์ง่ายๆ เร็วๆ ส่วนจอเป็นของ Fuel Tech FT550 ที่ทำงานพ่วงกับกล่อง Fuel Tech ง่ายสะดวกทันใจ แล้วติดด้ามเบรกมือไฮดรอลิคพร้อมเดินท่อน้ำมันต่อเข้าไปที่คาร์ลิบเปอร์หลังเอาไว้เบิร์นยางให้อุณหภูมิของยางถึงก่อนออกแข่งขัน
สำหรับรถ DC2 เครื่อง K20A เทอร์โบ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานในการประกอบสร้าง ซึ่งใช้เวลาในการสร้างประมาณ 1 เดือนก่อนการแข่งขัน จากผลงานของอู่ Motion Tunering กับ Flow Lap ที่สรรสร้างงานออกมาได้อย่างสุดยอด
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook