รถ Space Frame ฉายา “แบทแมน” ของทางช่างเบิร์ดหลัก 5
คงปฏิเสธไม่ได้นะครับว่าในยุคนี้วงการ Drag Deisel ของเมืองไทยนั้นพัฒนาขึ้นในแบบที่ก้าวกระโดดอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งในการแข่งขันรุ่นที่ใหญ่อย่าง Open Unlimited หรือในรุ่นของรถเฟรมนั้นทุกๆปี หลายสำนักอู่ดีเซลทั้งหลายต่างก็งัดกลยุทธ์หรือไม้เด็ดต่างๆ มาพัฒนารถแข่งของตัวเองเพื่อหวังจะได้เห็นสถิติที่ดีขึ้น จนล่าสุดใกล้แตะเลข 6 วินาทีกันเข้าไปทุกทีแล้ว และสำหรับในวันนี้ทาง BoxzaRacing ของเราจะพาไปเจาะลึกกับรถ Space Frame ฉายา “แบทแมน” ของทางช่างเบิร์ดหลัก 5 อีกหนึ่งตัวหัวแถวระดับประเทศ ตัวเต็งแชมป์เกือบจะทุกรายการ ว่ารายละเอียดของเจ้ารถเฟรมแบทแมนคันนี้มีอะไรบ้าง เครื่องยนต์ทำกันในสเต็ปไหน และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาไปมากกว่านี้ เราไปดูกันเลยครับ
ก่อนเราจะไปเข้าในเรื่องของรายละเอียดตัวรถคันนี้ ก็ต้องอธิบายกันก่อนว่า รถแข่งที่จะลงทำการแข่งขันในรุ่น Open Unlimited หรือรถ Space Frame ส่วนใหญ่นั้นจะเป็น รถที่สร้างมาเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นบอดี้ภายนอก หรือตัวโครงรถต่างๆ ซึ่งในส่วนของบอดี้ภายนอกมักจะถูกหล่อขึ้นรูปมาใหม่ โดยอาจจะมีพื้นฐานหรือต้นแบบมาจากรถยนต์ที่วิ่งกันอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว ก่อนที่จะนำตัวบอดี้นั้นมาครอบโครงรถอีกทีนึงนั่นเอง ซึ่งความจริงแล้วเราสามารถสร้างตัวเฟรมบอดี้บอดี้ไหนมาครอบตัวโครงก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นรถบ้าน Eco Car, รถกระบะ ลามไปถึง Supercar ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่พอมาเป็นรถ Space Frame ในการแข่งขันรุ่นของดีเซลในประเทศไทย แน่นอนครับว่าถ้าต้องการจะสื่อให้เห็นภาพชัดเจน มันก็ต้องออกมาในรูปทรงของรถกระบะ ซึ่งย้อนไปเมื่อหลายปีที่แล้ว การที่จะทำรถ Space Frame กระบะขึ้นมาสักคันนึง ก็เพียงแค่นำตัวถังภายนอกเอาไปขึ้นโมลด์ใหม่ เป็นวัสดุไฟเบอร์หรือเคฟล่าห์ต่างๆเพื่อให้มีน้ำหนักที่เบาขึ้น แต่พอมาถึงจุดนึง การที่จะทำให้รถแดร็กวิ่งควอเตอร์ไมล์ด้วยเวลาน้อยที่สุดมันไม่ใช่เพียงมีเครื่องยนต์ที่แรงม้าเยอะๆเท่านั้น ในเรื่องของหลักอาการพลศาสตร์ก็เป็นส่วนสำคัญอย่างมาก ที่จะพารถแข่งเข้าเส้นไปให้เร็วที่สุด จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของบอดี้ “แบทแมน” คันนี้นี่เอง
ตัวเฟรมบอดี้ภายนอกเป็นผลงานของทาง Akana ทั้งหมด
โดยไอเดียการออกแบบตัวบอดี้เจ้า “แบทแมน” ภายนอกนั้นทางช่างเบิร์ดหลัก 5 ให้ทาง “พี่ปืน Akana” เป็นผู้ออกแบบใหม่และผลิตทั้งหมด ซึ่งแรงบันดาลใจของการออกแบบก็คือการทำให้ด้านหน้าของตัวรถนั้นมีลักษณะคล้ายหัวกระสุนหรือหัวจรวดคล้ายกับรถแข่ง Funny Car ในต่างประเทศบวกกับยังคงต้องการลักษณะเอกลักษณ์ของความเป็นรถกระบะไว้ จึงออกมาเป็นรูปทรงคล้ายกับ “รถแบทแมน” อย่างที่เราเห็นในภาพยนต์นั่นเอง ซึ่งตัวบอดี้ภายนอกถูกขึ้นรูปใหม่ด้วยวัสดุเคฟล่าห์ทั้งหมด ที่สามารถแยกได้ทุกชิ้นส่วน ไม่ว่าจะเป็นหัวรถ ประตู หรือบอดี้ตัวรถ ในส่วนของด้านท้ายกระบะถูกตีขึ้นรูปเป็นโป่งซุ้มล้อเพื่อรองรับกับยาง Drag ที่ใส่เข้าไปก่อนที่จะเพิ่มสปอยเลอร์ทรง GT ขนาดใหญ่ที่เอาไว้สร้างรถกดด้านท้ายในย่านความเร็วสูงเพื่อให้หน้ายางนั้นสัมผัสกับพื้นถนนให้อย่างเต็มที่นั่นเอง
ตัวโครงรถทางช่างเบิร์ดให้ทาง ม.เจริญท่อไอเสีย เป็นผู้ดูแลในการต่อ
สำหรับอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องมีการคำนวนและทำควบคู่ไปกับการสร้างบอดี้ภายนอกนั้นก็คือทางด้านตัวโครงรถนั่นเอง เพราะอย่างที่เราเกรินกันไปแล้วว่า รถแข่งในรุ่นนี้ส่วนใหญ่นั้นสร้างใหม่ทั้งหมด ดังนั้นตัวโครงรถก็ต้องทำมารองรับกับตัวบอดี้ที่ทำขึ้นมาใหม่ด้วย โดยในส่วนโครงสร้างตัวรถนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นผลงานการต่อของทาง ร้าน ม.เจริญท่อไอเสีย อู่ที่มีความสนิมสนมกับทางช่างเบิร์ดเป็นอย่างดี โดยมี “ป๋าแดง Drag Master” ปรมาจารย์ในการต่อรถแข่ง Space Frame เป็นผู้คอยให้คำแนะนำอยู่ใกล้ๆ ซึ่งหลายๆคนอาจคิดว่า การต่อหรือสร้างโครงรถเฟรมนั้นไม่น่าจะมีอะไรยาก เพียงแค่เชื่อมเหล็กต่อๆกันแค่นี้ก็สามารถทำได้แล้ว แต่ในความจริงนั้นทุกสิ่งทุกอย่างต้องอยู่ที่ว่าคำนวนและวางแผนทุกๆอย่าง ว่าจะบาลานซ์น้ำหนักอย่างไร ที่นั่งคนขับต้องอยู่ตรงไหน จุดยึด จุดเชื่อมต่างๆของบอดี้ต้องเชื่อมตรงไหนถึงจะมีความแข็งแรงมากที่สุดด้วยการใช้เหล็กน้อยเพื่อน้ำหนักที่ที่เบาสุด การวางตำแหน่งโช๊คอัพต่างๆ ซึ่งถ้าหากวางแผนคำนวนกันไม่ดีแล้วละก็ อาจจะต้องทิ้งโครงรถและเริ่มสร้างใหม่กันเลยทีเดียว
เบาะหลังแข็งลายพรางของ Akana ที่มากับเบลล์จากทาง Simpson
พวงมาลัย Strange พวงมาลัยสำหรับสายแดร็กที่มีปุ่มยิง Nos ด้านข้างพวงมาลัย
แป้นเหยียบของทาง Tonnka ของซิ่งจากมาเลเซียประเทศเพื่อนบ้านเรานี่เองครับ
จบในส่วนของบอดี้ภายนอกกับตัวโครงรถกันไปแล้ว ถัดมาเรามาดูในส่วนของภายในกันบ้าง สำหรับภายในนั้นก็ต้องบอกว่าโล่งตามสไตล์รถแข่ง Drag แล้วยิ่งเป็นรถ Space Frame ที่สร้างขึ้นมาด้วยแล้ว ภายในมีแค่เพียง เบาะหลังแข็งลายพรางของ Akana ที่มากับเบลล์จากทาง Simpson เท่านั้น ด้านพวงมาลัยก็เปลี่ยนเป็นพวงมาลัย Strange พวงมาลัยสำหรับสายแดร็กที่มีปุ่มยิง Nos ด้านข้างพวงมาลัย ในส่วนของแป้นเหยียบก็เป็นแป้นเหยียบของทาง Tonnka ที่ออกแบบมาใช้สำหรับการแข่งขันโดยเฉพาะ ด้านฝั่งขวามือของคนขับ ก็ถูกจัดวางบาลานซ์น้ำหนักด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเกียร์ ถังลมสำหรับการเข้าเกียร์, ถึง Nos รวมไปถึงหม้อน้ำต่างๆ ที่ถูกย้ายมาไว้อยู่ในตัวรถ
เครื่องยนต์ 4JK1 ที่ขยายความจุเป็น 3,200 cc.
ฝาสูบโมดิฟายจากทาง ไก่ชิมวาล์ว พร้อมด้วย แคมชาร์พ สปริงวาล์ว ตามสูตรช่างเบิร์ด
มาถึงหัวใจหลักของเจ้าแบทแมนคันนี้ดีกว่าครับ สำหรับเครื่องยนต์ที่ถูกเลือกให้เข้าไปประจำการอยู่ในภายรถเฟรมคันนี้เป็นเครื่องยนต์ในรหัส 4JK1 ของทาง Isuzu ซึ่งสำหรับการโมดิฟายเครื่องยนต์ในตระกูล 4JK หรือ 4JJ ในยุคนี้ แต่ละอู่นั้นก็จะมีการเซ็ทอัพและโมดิฟายในสเต็ปที่ใกล้เคียงกัน แต่จะแตกต่างกันที่รายละเอียดปลีกย่อย เช่นอู่หนึงอาจจะเน้นไปที่แรงบิดในรอบต่ำ - กลาง แต่อีกอู่อาจจะโมดิฟายเน้นไปที่แรงม้ารอบกลาง - สูง โดยสำหรับการโมดิฟายเครื่องยนต์ 4JK1 คันนี้ ช่างเบิร์ดเริ่มจากการขยายความจุเป็น 3,200 cc. ด้วยชุดขยายความจุของการ MRX แบบเต็มระบบ ไม่ว่าจะเป็นลูกสูบ ก้านสูบ และข้อเหวี่ยง ส่วนฝาสูบถูกส่งไปโมดิฟายที่สำนักไก่ชิมวาล์วตามสเป็กที่ช่างเบิร์ดกำหนด ในส่วนของ แคมชาร์พ สปริงวาล์ว และหัวฉีด เป็นของแต่งที่ทาง ช่างเบิร์ดหลัก 5 คิดค้นและพัฒนาเองทั้งหมด ด้านปั๊มคอมมอลเรลก็ให้ทาง พงษ์ศักดิ์ ดีเซล ที่เป็นผู้จัดการโมดิฟายมาให้ที่รับรองว่าแรงหายห่วง พร้อมทั้งยังเพิ่มเรกุเลเตอร์ของทาง Mallory และปั๊มติ๊ก Pierburg ถึง 4 ตัว
เทอร์โบเป็น Mitsubishi TF08 และ Garrett GTX47 ที่ช่วยกันปั่นแรงม้าเข้าสู่เครื่องยนต์
เกียร์ Liberty 7 สปีด จับคู่กับเฟืองท้าย Strange อัตราทด 3.25 ที่มาพร้อมกับคลัทช์จาก BRC
สมองกลเป็น กล่อง ECU=Shop Stand Alone V.4
ชุด Nos ที่เอาไว้เพิ่มแรงม้าได้ตามใจสั่ง
สำหรับเทอร์โบคันนี้ทางช่างเบิร์ดเลือกเซ็ทอัพเป็นเทอร์โบคู่ที่ต่อแบบอนุกรม โดยลูกแรกเป็นเทอร์โบ Mitsubishi TF08 ส่วนเทอร์โบลูกที่ 2 เป็น Garrett GTX47 ที่ช่วยกันปั่นแรงม้าเข้าสู่เครื่องยนต์ ก่อนที่จะคายไอเสียส่วนเกินด้วย Wastegate Tial ทั้ง 2 ตัว โดยเครื่องยนต์ทั้งหมดนั้นถูกควบคุมด้วยกล่อง ECU Stand Alone V.4 ของทาง ECU=Shop ที่สามารถปั่นแรงม้าออกมาได้มากถึง 1,087 ตัว ด้วยแรงบิด 1800 Nm. ด้านระบบส่งกำลังเป็นเกียร์ Liberty 7 สปีด จับคู่กับเฟืองท้าย Strange อัตราทด 3.25 ที่มาพร้อมกับคลัทช์จาก BRC ที่จับม้าลงพื้นได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย และถ้าหากแรงม้า 1,087 ตัวยังไม่พอเท้า "เบส เทอร์โบยำ" แล้วละก็ ทางช่างเบิร์ดก็ได้ยังมีการเพิ่ม Nos ที่ฝังลงไปอีก 3 หัว ที่รับรองว่าแรงกันแบบหน้าตึงแน่นอน
ชุดช่วงล่าง 4 Link ที่เซ็ทอัพโดย ป๋าแดง Drag Master
ล้อ Weld Racing ที่รัดมากับบาง Hoosier
เบรค Strange เบรคยอดฮิตของขาแดร็กในยุคนี้
อีกหนึ่งส่วนที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือในระบบของช่วงล่าง เพราะว่าถ้าหากช่วงล่างของรถแดร็กนั้นเซ็ทอัพมาไม่ดี หรือออกตัวไม่ได้ รถไม่ตรง ต่อให้คุณมีสัก 100,000 แรงม้า ก็ไม่สามารถทำเวลาดีดีได้อย่างแน่นอน โดยในส่วนของช่วงล่างของเจ้าเฟรมแบทแมนคันนี้ทางช่างเบิร์ด ให้ทาง ป๋าแดง Drag Master เป็นผู้จัดการและดูแลทั้งหมด โดยในส่วนของโช๊คอัพหน้าเป็นโช๊คอัพ Strange ที่ถูกเซ็ทมาสำหรับการแข่งขันแดร็ก ส่วนด้านหลังใช้เป็นช่วงล่างแบบ 4 link ที่มาพร้อมกับโช๊ค Koni Drag ที่เซ็ทอัพตามสูตรป๋าแดง ล้อที่ใช้ก็ต้องมีความเบาเพื่อลดน้ำหนักให้มากที่สุด ซึ่งช่างเบิร์ดเองก็เลือกใช้ล้อของทาง Weld Racing ที่รัดมาด้วยยาง Hoosier ทั้ง 4 ล้อในขนาดล้อหลัง 23-4.5 ขอบ 15 ส่วนล้อหลังเป็นไซส์ขนาด 36-16.5 ขอบ 16 ปิดท้ายด้วยการใส่ชุดเบรคของทาง Strange เข้าไป ที่ทำงานคู่กับร่มช่วยเบรคที่ถึง 2 ชุดเพียงเท่านี้ก็หยุดความแรงของเครื่องยนต์ดีเซลพิกัด 1,xxx ม้า ได้อย่างไม่ยากเย็นแล้วครับ
เบส เทอร์โบยำ ผู้ทำหน้าที่ขับเจ้าแบทแมนคันนี้
โดยรถแข่ง Space Frame แบทแมนของช่างเบิร์ดหลัก 5 คันนี้สามารถทำเวลาในการวิ่งควอเตอร์ไมล์เร็วที่สุดอยู่ที่ 7.251 วินาที ซึ่งในอนาคตทางช่างเบิร์ดก็แอบกระซิบมาว่า ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงทดลองและพัฒนาในส่วนของเครื่องยนต์สเต็ปใหม่กันอยู่ รวมไปถึงยังอยากจะให้ตัวรถนั้นมีน้ำหนักที่เบาลงมากกว่าเดิมอีก และถ้าหากทุกสิ่งทุกอย่างลงตัว รถพร้อม แทร็คพร้อม ทุกอย่างเป็นใจ ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นสถิติดีดี หรือสถิติใหม่ประเทศไทยในรุ่นของ Open Unlimited อย่างแน่นอน ในครั้งหน้า เราจะมีรถแข่ง รถแต่ง หรือรถสวยๆคันไหนมาให้ได้ชมกันอีกนั้น ก็ต้องติดตามกันนะครับ วันนี้คงต้องลากันไปก่อน สวัสดีครับ
Tech Spec
ภายนอก
ภายใน
เครื่องยนต์
ช่วงล่าง
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook