เขียนโดย: Pajingo

เมื่อ: 31 สิงหาคม 2561 - 13:56

MotoGP กับ World SuperBike ต่างกันอย่างไร ดวลกันตัวต่อตัว ใครเหนือกว่า ไปหาคำตอบกัน

 

           MotoGP และ World SuperBike Championship ในฤดูกาล 2018 เปิดฉากการแข่งขันไปเป็นที่เรียบร้อย แน่นอนว่า...แต่ละทีมนั้นก็ห้ำหั่น งัดกลยุทธ์ต่างๆ ออกมาใช้เพื่อชิงชัยในโลกความเร็วกันแบบไม่มีใครยอมใครเลยจริงๆ ซึ่งสิ่งที่ผู้ชมหน้าใหม่หลายๆ ท่านยังคงสงสัย คงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า การแข่งขันมอเตอร์ไซค์ชิงแชมป์โลก 2 รายการนี้ มีความแตกต่างกันอย่างไร ในวันนี้ BoxzaRacing มีคำตอบมาเฉลยให้ทุกท่านแล้วครับ

 

 

           การแข่งขันในรายการ MotoGP และ World SuperBike Championship แม้จะได้รับรองการแข่งขันจาก สหพันธ์จักรยานยนต์ระหว่างประเทศ (Federation of International Motorcycling) หรือ FIM เหมือนกัน แต่อันที่จริงแล้ว เรียกได้ว่าแตกต่างกันพอสมควรเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์การแข่งขัน, รถที่ใช้ในการแข่งขัน, รูปแบบและจำนวนเรซในการแข่งขัน รวมไปถึงบรรดานักแข่งที่เข้าร่วมทำการแข่งขัน ที่แม้จะดูไม่ได้ต่างกัน แต่เอาจริงๆ แล้ว น่าจะต่างกันในระดับที่รู้สึกได้ เพื่อไม่ให้เสียเวลา เราไปดูกันเลยดีกว่าครับ

 

 

ประวัติศาสตร์การแข่งขัน

          MotoGP เปิดฉากการแข่งขันครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 โดยในช่วงแรกนั้น ใช้ชื่อการแข่งขันว่า FIM Road Racing World Championship Grand Prix ก่อนจะมาเปลี่ยนชื่อเป็น MotoGP ในภายหลัง โดยมีการปรับเปลี่ยนกติกาการแข่งขันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในอดีต โดยในยุคแรกเริ่มนั้น คลาสสูงสุดที่ใช้ในการแข่งขันจะเป็นเครื่องยนต์ในพิกัด 500 ซีซี. ก่อนจะมาถึงช่วงรอยต่อระหว่างเครื่องยนต์ 2 และ 4 จังหวะ ที่มีแต้มต่อเรื่องของ ซีซี. คือ เครื่องยนต์ 2 จังหวะ กำหนดความจุไว้ที่  500 ซีซี. ส่วนเครื่องยนต์ 4 จังหวะ กำหนดความจุไม่เกิน 990 ซีซี. เป็นต้น หลังจากนั้นก็มีการปรับเปลี่ยนเรื่อยมาจนปัจจุบัน ส่วน World SuperBike Championship เปิดฉากการแข่งขันครั้งแรกในปี ค.ศ.1988 เรื่องของเครื่องยนต์กลไก ไม่ได้มีการกำหนดอะไรมาก เพราะเป็นรถที่ผลิตออกมาเพื่อจำหน่าย อยู่ที่ว่ารถรุ่นใด ใช้เข้าร่วมการแข่งขันได้หรือไม่ได้ตามข้อกำหนดของผู้จัดการแข่งขันเท่านั้น

 

KTM RC16

 

รถที่ใช้ในการแข่งขัน

          จุดไฮไลท์ของความต่างระหว่าง MotoGP และ World SuperBike Championship คงหนีไม่พ้นเรื่องของรถที่ใช้ในการแข่งขัน หากจะพูดแบบกว้างๆ ก็คือ MotoGP เป็นรถที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการแข่งขันเท่านั้น ตั้งแต่ในส่วนของโครงสร้าง เครื่องยนต์ รวมไปถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่ถูกจับมาประจำการ ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ก่อนที่จะนำมาถ่ายทอดสู่รถในรูปแบบโปรดักชั่นที่ทำมาเพื่อจำหน่ายสำหรับคนทั่วไป เช่น Yamaha YZR-M1, Honda RC213V, Ducati Desmosedici GP, Suzuki GSX-RR แต่สำหรับรถแข่ง World SuperBike Championship จะเป็นรถทั่วไปที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ก่อนจะนำมาปรับแต่งสมรรถนะเพื่อให้สามารถลงทำการแข่งขันได้ เช่น Kawasaki ZX-10RR, Yamaha R1, Honda CBR1000R, BMW S1000RR, Ducati Panigale R

 

 

เครื่องยนต์

          แน่นอนว่า MotoGP เป็นรถสร้าง เครื่องยนต์ประจำการในรถแข่งก็เช่นกัน โดยขุมพลังที่กำหนดให้ใช้ในฤดูกาล 2018 เป็นเครื่องยนต์แบบ 4 สูบ ในพิกัด 1,000 ซีซี. โดยแต่ละค่ายสามารถออกแบบเลย์เอาท์ได้ตามต้องการ ไม่ว่าจะเป็น V4, L4 หรือ Inline 4 แรงม้าสูงสุดที่ทำได้คือ 260 ตัว (ด้วยเชื้อเพลิงออคเทน 100) จับคู่กับน้ำหนักตัวรถเพียง 15x กก. นั่นหมายความว่า มีแรงม้าให้ใช้ถึง 1.5x แรงม้า ต่อน้ำหนัก 1 กก. เลยทีเดียว โดยสถิติความเร็วสูงสุดของรถ MotoGP ที่ทำได้คือ 354.7 กม./ชม. โดย Michele Pirro ที่สนาม Mugello Circuit เมื่อปี 2017 ส่วนรถแข่ง World SuperBike Championship ใช้เครื่องยนต์ที่ผลิตจากโรงงานเพื่อประจำการในรถโปรดักชั่น ซึ่งจะมีความจุที่แตกต่างกันไปในแต่ละรุ่น แต่ละเลย์เอาท์เครื่องยนต์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องยนต์ 4 สูบ ในพิกัด 1,000 ซีซี. (กำหนดเชื้อเพลิงออคเทนไม่เกิน 98) แบกน้ำหนักราว 16x กก. แต่จะมีบางค่ายที่ใช้เครื่องยนต์ความจุสูงกว่า ในจำนวนกระบอกสูบที่น้อยกว่า เช่น Ducati Panigale R ที่ใช้เครื่องยนต์แบบ 2 สูบ ความจุ 1,198 ซีซี. พละกำลังโดยส่วนใหญ่สำหรับรถที่ใช้แข่ง WSBK คือ 200+ แรงม้า สถิติความเร็วสูงสุดคือ 339.5 กม./ชม. โดย Tom Sykes ที่สนาม Monza ประเทศอิตาลี

 

เลย์เอาท์การจัดอันดับสตาร์ทใน WSBK เรซที่ 2

 

รูปแบบและจำนวนเรซในการแข่งขัน

          รูปแบบของการแข่งขัน MotoGP และ World SuperBike Championship นั้นจะต่างกันอยู่เล็กน้อย โดยการแข่งขัน MotoGP จะแข่งขันกันเพียง 1 เรซ ต่อสนาม จัดอันดับการออกสตาร์ทตามเวลาที่ควอลิฟาย แต่สำหรับการแข่งขัน WSBK จะทำการแข่งขันทั้งสิ้น 2 เรซ โดยในเรซแรกจะจัดลำดับการออกสตาร์ทตามเวลาการวอลิฟาย ส่วนในเรซที่ 2 ตั้งแต่ฤดูกาล 2017 จะมีการปรับตำแหน่งสตาร์ท โดยผู้ที่จบการแข่งขันอันดับที่ 1 จะถูกจัดให้ออกสตาร์ทในลำดับที่ 9 ของเรซต่อมา ส่วนอันดับที่ 2 และ 3 จะได้ออกสตาร์ทในลำดับ 8 และ 7 ตามลำดับ ส่วนผู้ที่จบการแข่งขันในลำดับที่ 4 - 6 ก็จะได้ออกสตาร์ทในลำดับที่ 1 - 3 เพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างสนุก สูสีมากยิ่งขึ้น

 

 

ความสามารถของนักแข่ง

          อันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ขอร้องเลยว่างดดราม่านะจ๊ะ ในความรู้สึกแล้ว ความสามารถของนักแข่ง MotoGP (โดยส่วนใหญ่แล้ว กว่า 70% จะเป็นพวกสแปนิช หรืออิตาเลียน) หลายๆ คน ดูจะสูงกว่านักแข่ง World SuperBike Championship อย่างมีนัยสำคัญ ลองสังเกตง่ายๆ หากนักแข่ง MotoGP คนไหนที่อายุค่อนข้างมาก ก็มักจะย้ายที่เกษียนตัวเองมาอยู่ในรายการ WSBK นี่แหละ รวมไปถึงบรรดานักแข่งที่อยู่ท้ายแถว หรือความสามารถยังเป็นรองเพื่อนอยู่มาก ก็จะผันตัวเองมาอยู่ในรายการนี้เช่นกัน ลองคิดเล่นๆ แล้วก็อยากรู้เหมือนกันนะ ว่าถ้าจับนักแข่งหัวๆ จากค่ายเขียวไปขี่รถ MotoGP จะทำผลงานได้ดีขนาดไหน ?

 

 

สถิติในสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต

          เทียบความเร็วสูงสุดระหว่างรถ MotoGP และ World SuperBike Championship อาจจะยังเป็นภาพที่เห็นไม่ชัดมากนัก เพราะแน่นอนว่าต่างเวลา ต่างสถานที่ ปัจจัยแวดล้อมก็ย่อมต่างกันเป็นธรรมดา แต่หากวัดกันในสถานที่เดียวกัน ผลที่ออกมาอาจจะชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น เวลาต่อรอบของรถ MotoGP และ World SuperBike Championship ในสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต โดยล่าสุดสถิติในการขี่ MotoGP Winter Test ที่ประเทศไทย เป็นของ Dani Pedrosa ด้วยเวลาต่อรอบ 1'29.781 นาที ส่วนสถิติความเร็วสูงสุดเป็นของ Andrea Dovizioso ทำความเร็วได้ถึง 334.4 กม./ชม. สำหรับสถิติเวลาต่อรอบของรถ WSBK ในสนามช้างฯ เป็นของ Jonathan Rea นักแข่งสหราชอาณาจักร ที่เวลา 1’32.957 นาที ส่วนสถิติความเร็วสูงสุดเป็นของ Marco Melandri ที่ 305.9 กม./ชม.

 

 

          MotoGP กับ World SuperBike Championship แม้จะเป็นการแข่งมอเตอร์ไซค์ชิงแชมป์โลกเหมือนกัน แต่ก็มีองค์ประกอบที่ต่างไปไม่น้อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่เหมือนกันอย่างปฏิเสธไม่ได้คือ ความสนุก เร้าใจในการชมและเชียร์ ซึ่งทั้ง 2 รายการ มีคิวแข่งในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย แฟนๆ มอเตอร์สปอร์ต...ห้ามพลาด !

รถซื้อสอง ซื้อขายรถ ของแต่งรถ

ข่าวที่ใกล้เคียง

แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook